ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ธปท.เผยสินเชื่อระบบแบงก์Q2/59โตแค่3.3%เหตุศก.ขยายตัวค่อยเป็นค่อยไป


 


นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน สายนโยบายสถาบันการเงิน เปิดเผยผลการดำเนินงานของระบบธนาคารพาณิชย์ไตรมาส 2 ปี 2559 ว่าระบบธนาคารพาณิชย์ มีเสถียรภาพ มีเงินสำรองและเงินกองทุนในระดับสูง สามารถรองรับการขยายตัวของสินเชื่อและสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะต่อไปได้ แม้ภาวะเศรษฐกิจที่ขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปจะมีผลกระทบต่อการขยายตัวและคุณภาพของสินเชื่อ ซึ่งส่งผลต่อเนื่องถึงความสามารถในการทำกำไรของระบบธนาคารพาณิชย์ 

ความต้องการสินเชื่อที่ยังอ่อนแอภายใต้ภาวะเศรษฐกิจที่ขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ส่งผลให้สินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ขยายตัวในระดับต่ำที่ร้อยละ 3.3 จากระยะเดียวกันปีก่อน โดยสินเชื่อธุรกิจขยายตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากสินเชื่อเพื่อซื้อกิจการค้าปลีกขนาดใหญ่เป็นสำคัญ ขณะที่สินเชื่ออุปโภคบริโภคขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงต่อเนื่องสินเชื่อธุรกิจ (ร้อยละ 67.9 ของสินเชื่อรวม) ขยายตัวร้อยละ 2.0 เทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน โดยขยายตัวดีในภาคธุรกิจการเงิน (จากสินเชื่อเพื่อซื้อกิจการในธุรกิจค้าปลีกขนาดใหญ่) ภาคบริการและก่อสร้าง ขณะที่สินเชื่อในภาคอุตสาหกรรมและอสังหาริมทรัพย์หดตัว และสินเชื่อในภาคพาณิชย์กลับมาขยายตัว เป็นบวกเล็กน้อย หลังจากหดตัวต่อเนื่องมา 2 ไตรมาส

สินเชื่ออุปโภคบริโภค (ร้อยละ 32.1 ของสินเชื่อรวม) ขยายตัวร้อยละ 6.0 ชะลอลงต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากครัวเรือนยังไม่มั่นใจในการใช้จ่าย ประกอบกับธนาคารพาณิชย์ยังระมัดระวังการขยายสินเชื่อส่วนบุคคลโดยเฉพาะในสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน อย่างไรก็ดี สินเชื่อที่อยู่อาศัยขยายตัวได้ดีแม้จะชะลอลงหลังสิ้นสุดมาตรการรัฐในการกระตุ้นเศรษฐกิจภาคอสังหาริมทรัพย์ในเดือนเมษายน สินเชื่อรถยนต์ขยายตัวเป็นบวกต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่สาม สอดคล้องกับตลาดรถยนต์ที่มียอดขายเพิ่มขึ้น ขณะที่สินเชื่อ บัตรเครดิตได้รับอานิสงส์จากมาตรการรัฐในเดือนเมษายน ทำให้ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน

คุณภาพสินเชื่อด้อยลงต่อเนื่อง ทั้งในสินเชื่อธุรกิจโดยเฉพาะสินเชื่อธุรกิจ SME และสินเชื่ออุปโภคบริโภค โดยสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Non-Performing Loan : NPL) มียอดคงค้าง 373.7 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน 16.3 พันล้านบาท ส่งผลให้สัดส่วน Gross NPL ต่อสินเชื่อรวมเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 2.72 จากร้อยละ 2.64 ขณะที่สินเชื่อจัดชั้นกล่าวถึงเป็นพิเศษ (Special Mention Loan : SM) มียอดคงค้าง 297.9 พันล้านบาท ลดลงจากไตรมาสก่อน 8 พันล้านบาท ทำให้สัดส่วน SM ต่อสินเชื่อรวมลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 2.17 จากร้อยละ 2.26
 
ทั้งนี้ ธนาคารพาณิชย์มีการกันสำรองสำหรับสินเชื่อด้อยคุณภาพในระดับสูงต่อเนื่อง โดยเงินสำรองของระบบธนาคารพาณิชย์เพิ่มขึ้นใกล้เคียงกับไตรมาสก่อน 24.2 พันล้านบาท เป็น492.8 พันล้านบาท ส่งผลให้สัดส่วนเงินสำรองที่มีต่อเงินสำรองพึงกันเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 161.3 จากไตรมาสก่อนที่ร้อยละ 160

ในไตรมาส 2 ปี 2559 ระบบธนาคารพาณิชย์มีกำไรจากการดำเนินงาน 97.6 พันล้านบาท ขยายตัวที่ร้อยละ 3.1 จากระยะเดียวกันปีก่อน แม้ธนาคารพาณิชย์จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลงในไตรมาสนี้ และกำไรจากเงินลงทุนและธุรกรรมบริหารเงินจะลดลงจากผลของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรที่อยู่ในระดับต่ำ โดยกำไรที่เพิ่มขึ้นเป็นผลจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิที่เพิ่มขึ้นจากการบริหารต้นทุนเงินฝากและรายได้จากเงินปันผล

สำหรับกำไรสุทธิเท่ากับ 50.9 พันล้านบาท ลดลงร้อยละ 4.6 จากระยะเดียวกันปีก่อน เป็นผลจากการกันสำรองที่เพิ่มขึ้นเพื่อรองรับคุณภาพสินเชื่อที่อาจด้อยลงตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจ ทั้งนี้ อัตราส่วนรายได้ดอกเบี้ยสุทธิต่อสินทรัพย์เฉลี่ย (Net Interest Margin : NIM) และอัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์เฉลี่ย(Return on Asset : ROA) ทรงตัวที่ร้อยละ 2.6 และ ร้อยละ 1.2 ตามลำดับ ภาพรวมฐานะทางการเงินของระบบธนาคารพาณิชย์มีความมั่นคง โดยมีเงินกองทุนทั้งสิ้น 2,273.7พันล้านบาท และมีอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS ratio) ที่ร้อยละ 17.5
 

LastUpdate 11/08/2559 16:29:40 โดย : Admin

17-06-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ June 17, 2024, 9:53 pm