กระทรวงสาธารณสุข กำชับโรงพยาบาลในพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม ที่ภาคเหนือ ติดตามสถานการณ์ใกล้ชิด ประเมินความเสี่ยง เตรียมแผนป้องกันน้ำท่วม ขนย้าย ยา เวชภัณฑ์ เครื่องมือแพทย์ไว้ในที่ปลอดภัย เตรียมเครื่องสูบน้ำ เครื่องสำรองไฟ เครื่องปั่นไฟ สำรวจและวางแผนดูแลกลุ่มเสี่ยง ประชาชนเจ็บป่วยฉุกเฉินโทรขอความช่วยเหลือ 1669 ตลอด 24 ชั่วโมง
ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการรับมือกับภาวะฝนตกหนักในช่วงวันที่ 15-17 สิงหาคมนี้ ว่า ได้กำชับให้โรงพยาบาลในพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วม ที่ตั้งอยู่ในที่ลุ่มและริมแม่น้ำ ในภาคเหนือ ดำเนินการดังนี้ 1. เฝ้าระวัง ติดตามสถานการณ์สภาพอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด 2.ประเมินความเสี่ยงของสถานบริการ พร้อมวางแผนป้องกันน้ำท่วม เตรียมพร้อมระบบระบายน้ำ เตรียมกระสอบทราย เครื่องสูบน้ำ สำรองน้ำมัน 3.แผนการจัดบริการผู้ป่วย ขนย้ายอุปกรณ์ทางการแพทย์ ยา-เวชภัณฑ์ไว้ที่ปลอดภัยและ สำรองให้เพียงพอ รวมทั้ง ออกซิเจน อาหารและน้ำสำหรับผู้ป่วยให้เพียงพอ สำรวจระบบสำรองไฟฟ้า เครื่องปั่นไฟ ให้พร้อมใช้งานหากไฟดับ 4.เตรียมแผนการจัดบริการประชาชนในภาวะน้ำท่วม เช่น การขนย้ายผู้ป่วย ประสานการส่งต่อผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลอื่นที่น้ำไม่ท่วม สำรวจเส้นทางการขนย้าย เตรียมจัด บริการตรวจรักษานอกโรงพยาบาล กรณีน้ำท่วมโรงพยาบาลหรือท่วมเส้นทางเดินทางเข้าออกลำบาก 5.หากเกิดผลกระทบต่อการจัดบริการผู้ป่วยให้รายงานส่วนกลาง พร้อมให้การสนับสนุนทันที
นอกจากนี้ ให้โรงพยาบาลทุกแห่ง สำรวจกลุ่มเสี่ยงและวางแผนจัดการรักษาต่อเนื่อง ได้แก่ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ผู้สูงอายุ ผู้พิการ หญิงตั้งครรภ์และหลังคลอดในความรับผิดชอบ รวมทั้งพิจารณาจัดทีมหน่วยแพทย์เคลื่อนที่พร้อมออกไปดูแลถึงบ้าน ทั้งนี้ ได้รับรายงานว่าโรงพยาบาลในภาคเหนือที่อยู่ในที่ลุ่ม เช่นโรงพยาบาลน่าน ได้มีการขนย้ายอุปกรณ์ทางการแพทย์ ยา-เวชภัณฑ์ขึ้นที่สูงเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ทั้งนี้ ได้ให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขและอาสาสมัครสาธารณสุข ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เรื่องการดูแลรักษาความสะอาดเพื่อป้องกันโรคที่จะมากับน้ำท่วม โดยเฉพาะโรคฉี่หนู ประชาชนภายหลังลุยน้ำ ย่ำโคลนขอให้ล้างทำความสะอาดมือ เท้า ด้วยสบู่และเช็ดให้แห้งทุกครั้ง แต่หากมีอาการปวดศีรษะ มีไข้สูงทันทีทันใด ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะที่น่องและโคนขา คลื่นไส้ ท้องเสีย ให้รีบพบแพทย์ทันที เพื่อป้องกันโรคแทรกซ้อนจนเสียชีวิต ประชาชนเจ็บป่วยฉุกเฉินสามารถโทรขอความช่วยเหลือที่สายด่วน 1669 ฟรี ตลอด 24 ชั่วโมง
ข่าวเด่น