ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ เตือนตลาดหุ้นที่ทะยานขึ้นมาในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา เสี่ยงปรับฐานในช่วง 1-2 เดือนข้างหน้า แนะนำนักลงทุนทยอยขายทำกำไร
นายคมศร ประกอบผล หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ (Mr. Komsorn Prakobpol, Head of Strategy Unit, TISCO Economic Strategy Unit: TISCO ESU) กล่าวว่า ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวขึ้นอย่างร้อนแรงในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา โดยเฉพาะหุ้นในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ที่ได้อานิสงส์จาก Fund Flows ไหลเข้าหลังจากผลประชามติ Brexit ในช่วงปลายเดือน มิ.ย. เรามองว่าตลาดหุ้นมีความเสี่ยงที่จะปรับฐานมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจาก Bond Yield เริ่มกลับมาเพิ่มขึ้น โดยจะส่งผลกดดันต่อ Valuation ของตลาดหุ้นซึ่งค่อนข้างแพงในหลายตลาด ประกอบกับผลกำไรของตลาดหุ้นที่ยังหดตัวต่อในไตรมาส 2/2016 และปัจจัยเสี่ยง อื่นๆ ในช่วงที่เหลือของปี เช่น การทำประชามติของอิตาลีในช่วงปลายเดือน ต.ค. และการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในวันที่ 8 พ.ย.
นับตั้งแต่ช่วงปลายเดือน ก.ค. เป็นต้นมา Bond Yield ทั่วโลกเริ่มพลิกกลับมาเป็นขาขึ้น นำโดย Bond Yield ของพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีของญี่ปุ่น หลังจากธนาคารกลางญี่ปุ่น (BoJ) สร้างความผิดหวังต่อตลาดด้วยการคงนโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบที่ -0.1% ซึ่งผิดจากการคาดการณ์ของตลาดว่าจะลดดอกเบี้ยลงเป็น -0.2% ส่วนในสหรัฐฯ รายงานการจ้างงานชี้ว่าการจ้างงานนอกภาคเกษตร (Nonfarm Payrolls) เพิ่มขึ้นมากกว่าคาดเป็นอย่างมากในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา และทำให้ตลาดประเมินโอกาสการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารสหรัฐฯ (Fed) ภายในปีนี้เพิ่มขึ้นจากต่ำกว่า 40% เป็นเกือบ 50% ในปัจจุบัน
การเพิ่มขึ้นของ Bond Yield ซึ่งเป็นพื้นฐานของอัตราคิดลด (Discount Rate) ที่ใช้ในการคำนวณมูลค่าเหมาะสมของสินทรัพย์ทางการเงินทุกประเทศจะส่งผลกดดันต่อ Valuation ของตลาดหุ้นที่อยู่ในระดับสูง เช่น ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่ดัชนี S&P500 ซื้อขายที่ระดับ Forward P/E ที่ 17.2 เท่า และใกล้เคียงระดับสูงสุดในรอบ 10 ปี (1.9 Standard Deviation) เช่นเดียวกับ SET index ของไทย ซึ่งเทรดที่ระดับ Forward P/E 15.4 เท่า (1.9 Standard Deviation)
นอกจากปัจจัยกดดันจาก Bond Yield และ Valuation ดังที่กล่าวมาแล้ว ตลาดหุ้นยังต้องเผชิญกับความเสี่ยงในช่วงที่เหลือของปี เช่น การทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญของอิตาลี ในช่วงปลายเดือน ต.ค. ซึ่งหากไม่ผ่านความเห็นชอบจากประชาชน ก็อาจจุดชนวนให้เกิดการล้มรัฐบาล และเปิดโอกาสให้พรรค Five Star Movement (M5S) ที่มีนโยบายต่อต้านสหภาพยุโรปอาจชนะการเลือกตั้งและได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลต่อไป และการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในวันที่ 8 พ.ย. ซึ่งอาจเพิ่มความไม่แน่นอนทางการเมืองอีกระลอก
ข่าวเด่น