กระทรวงเกษตรฯ โดย สศก. เปิดเวทีการประชุมระดมความคิดเห็นเพื่อกำหนดทิศทางยุทธศาสตร์การพัฒนา 20 ปี ภาคการเกษตร
นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ภาคการเกษตรของไทยมีบทบาทสำคัญในการเป็นแหล่งผลิตสินค้าเกษตรและอาหารให้กับประเทศและยังมีเหลือส่งออกนำรายได้จำนวนมากเข้าสู่ประเทศ ที่ผ่านมา การดำเนินการส่วนใหญ่เป็นการวางแผนแนวทางพัฒนาในระยะสั้น และมีการเปลี่ยนแปลงไปตามนโยบายรัฐบาลในแต่ละยุคสมัย ดังนั้น เพื่อกำหนดแนวทางและยุทธศาสตร์การพัฒนาในระยะยาว จึงจำเป็นต้องมีกรอบการพัฒนาภาคการเกษตรอย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ รวมทั้ง มีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ประเทศระยะ 20 ปี ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ได้จัดประชุมระดมความคิดเห็นจากหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อกำหนดทิศทางยุทธศาสตร์การพัฒนา 20 ปี ภาคการเกษตร ที่มีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579) แล้ว 2 ครั้ง
นายสุรพงษ์ เจียสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการประชุมครั้งที่ 2/2559 วันที่ 28 กรกฎาคมที่ผ่านมา ได้มีการนำเสนอข้อมูลสำคัญ เช่น แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยสำคัญที่เป็นตัวกำหนดทิศทางของยุทธศาสตร์การพัฒนาภาคการเกษตรในระยะ 20 ปีข้างหน้า (ด้านประชากรของโลกและของประเทศไทย รวมถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ) สรุปแผนพัฒนาการเกษตรในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่ผ่านมาทั้ง 11 ฉบับ ทิศทางและกรอบยุทธศาสตร์ของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 พร้อม (ร่าง) แผนพัฒนาการเกษตร สถานการณ์การเกษตรของไทยจากอดีตถึงปัจจุบัน และนวัตกรรมด้านการเกษตร ตลอดจนรับฟังความเห็นและข้อเสนอแนะต่อร่างประเด็นยุทธศาสตร์ 10 ประเด็น ซึ่งข้อสรุปที่ได้จากการประชุม มีดังนี้
1. เกษตรกรและกลุ่มเกษตรกร ส่งเสริมให้เข้าถึงข้อมูลได้ง่าย มาตรการและนโยบายรัฐบาลควรมีความเหมาะสมกับเกษตรกรในแต่ละกลุ่ม ส่งเสริมการรวมกลุ่มแนวแปลงใหญ่มากขึ้น สนับสนุนเกษตรบริการ สร้างทัศนคติที่ดีต่อการทำการเกษตรให้กับคนรุ่นใหม่ ควรมีสวัสดิการเกษตรกรหรือกองทุน
2. การผลิต มีนโยบายเพิ่มศักยภาพการผลิตสินค้าเกษตรให้เพียงพอต่อการบริโภคในประเทศ ให้ความสำคัญกับ Animal Welfare ส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรที่มีมูลค่าสูงในพื้นที่ชลประทาน เน้น Food Security ผลิตสินค้าเกษตรเพื่อผู้สูงอายุ ประกันภัยพืชผล ปลูกพืชหลากหลาย และเพิ่มประสิทธิภาพ Logistics และ Supply Chain
3. ปัจจัยการผลิต คิดค้นและพัฒนานวัตกรรมรวมถึงเทคโนโลยีที่ทันสมัย เพิ่มพื้นที่ชลประทาน มีนโยบายกำหนดสัดส่วนพื้นที่สำหรับการเกษตรและอุตสาหกรรมอย่างชัดเจน พัฒนาเครื่องจักรกลการเกษตร และมีนโยบายที่ชัดเจนเกี่ยวกับการปรับปรุงพันธุ์พืชโดยอาศัยเทคโนโลยีชีวภาพ
4. ปัญหาหนี้สินและที่ดินทำกิน แก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกร มีแนวทางแก้ไขปัญหาการไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินทำกิน และบริหารจัดการที่ดินให้เกิดประโยชน์สูงสุด
5. กฎ ระเบียบที่เกี่ยวข้องกับสินค้าเกษตร นำ กฎ ระเบียบที่มีอยู่เดิมมาประกอบการพิจารณา พัฒนาปรับปรุงกฎระเบียบที่มีอยู่ในทันสมัยและสอดคล้อง รวมทั้งต้องคำนึงถึงพันธกรณีระหว่างประเทศด้วย
6. การตลาดสินค้าเกษตร มีแนวโน้มที่ประเทศผู้นำเข้าจะผลิตสินค้าเกษตรทดแทนการนำเข้า มีแนวโน้มบริโภคเนื้อสัตว์ ผักและผลไม้เพิ่มขึ้น ควรเน้นการทำปศุสัตว์แปลงใหญ่ ให้ความสำคัญกับอาหารสุขภาพคุณภาพดีและสะดวกในการบริโภค สร้างแบรนด์และเรื่องราวสินค้าเกษตรไทย รวมถึงพัฒนา e-market
7. การเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร เน้นเกษตรเชิงท่องเที่ยว ผลิตอาหารฮาลาลที่ได้มาตรฐานส่งออก และแปรรูปผลผลิตเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้า
8. ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ปรับการผลิตให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มีเทคโนโลยีเฉพาะฟาร์ม และฟื้นฟูทรัพยากรควบคู่ไปกับการพัฒนา
9. เทคโนโลยีและนวัตกรรม เน้นการทำวิจัยและพัฒนาเพิ่มขึ้นเพื่อนำไปใช้ประโยชน์จริง
10. นโยบายภาครัฐ บูรณาการการทำงานร่วมกันในทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ครอบคลุมทุกมิติ เน้นบทบาทในการเป็นหน่วยงานสนับสนุนและอำนวยความสะดวก รวมถึงปรับโครงสร้างหน่วยงานภาครัฐเพื่อลดความซ้ำซ้อนในการทำงาน
ในส่วนของแนวโน้มและทิศทางของต่างประเทศ เช่น กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ (USDA) มองการพัฒนาในระยะยาว เห็นว่าจากการที่ประชากรโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ประชากรมีฐานะดีขึ้น ส่งผลต่อการบริโภคที่จะเน้นการบริโภคโปรตีน ผักสด ผลไม้ และลดการบริโภคแป้ง ภาคการเกษตรจำเป็นต้องมีการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านการผลิตสู่การเกษตรแม่นยำสูง (Precision Agriculture) เทคโนโลยีชีวภาพที่มีความก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น และเครื่องจักรกลทางการเกษตรที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นและฉลาดมากขึ้น เพื่อให้ได้ผลผลิตคุณภาพที่เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภคในระยะต่อไป
ทั้งนี้ ที่ประชุมมีข้อสรุปร่วมกันว่า ควรมีการกำหนด Position ของภาคการเกษตรไทยในอนาคตที่ชัดเจน โดยประเด็นยุทธศาสตร์ต้องสอดคล้องกับกรอบยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี ครอบคลุมภารกิจหลักของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ไม่เน้นสิ่งที่ดำเนินการเป็นประจำ แต่ต้องมีประเด็นที่สอดคล้องกับแนวโน้มการพัฒนาของภาคการเกษตรในระดับโลก ที่จะพัฒนาไปสู่การขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ตามแนวทางการพัฒนาประเทศสู่ Thailand 4.0 โดย สศก.จะได้มีการจัดประชุมครั้งต่อไปเพื่อเสนอร่างยุทธศาสตร์ภาคการเกษตรไทย ระยะ 20 ปี ประมาณกลางเดือนกันยายนนี้
ข่าวเด่น