อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ลงพื้นที่ อ.ปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน มอบถุงยังชีพ จำนวน 50 ชุด ช่วยเหลือ อสม.ที่ประสบภัยน้ำท่วม ใน 2 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านเมืองแพม ต.ถ้ำรอด และบ้านท่าไคร้ ต.สบป่อง เผยในการรับมือน้ำท่วม กรม สบส. ได้จัดทีมวิศวกรฉุกเฉิน 30 ทีมทั่วประเทศ พร้อมดูแลสถานพยาบาล เครื่องมือแพทย์ ให้บริการประชาชนได้อย่างต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมง และกำชับ อสม.ภัยพิบัติกว่า 90,000 คน ดูแลชุมชนตั้งแต่ก่อนน้ำท่วม จนถึงการฟื้นฟูหลังน้ำลด
บ่ายวันนี้ (16 สิงหาคม 2559 ) นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายถาวร ขาวแสง ผู้อำนวยการสำนักงานสนับสนุนบริการสุขภาพ เขต 1 จ.เชียงใหม่ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมให้กำลังใจ ผู้ประสบภัยน้ำท่วมที่บ้านเมืองแพม ต.ถ้ำรอด และบ้านท่าไคร้ ต.สบป่อง อ.ปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน พร้อมมอบถุงยังชีพ พร้อมยาสามัญประจำบ้านให้ อสม.จำนวน 50 ชุด ซึ่งทั้ง 2 หมู่บ้านนี้ได้รับผลกระทบจากภัยน้ำท่วมเมื่อวันที่ 13 สิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งขณะนี้ระดับน้ำลดลงแล้วอยู่ในช่วงการฟื้นฟู
นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้หลายจังหวัดในภาคเหนือประสบปัญหาฝนตกหนัก และเกิดภัยน้ำป่าไหลหลากทะลักท่วมบ้านเรือนในบางจังหวัด อาทิ จ.แม่ฮ่องสอน จ.น่าน กรม สบส.จึงได้กำชับให้สำนักงานสนับสนุนบริการสุขภาพเขต จ.เชียงใหม่, จ.พิษณุโลก และ จ.นครสวรรค์ เตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำท่วม ใน 2 ส่วนหลัก ส่วนแรก ได้แก่ การดูแลสถานพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข และเครื่องมือแพทย์ โดยจัดทีมวิศวกรไม่ต่ำกว่า 6 ทีมเพื่อให้การสนับสนุนสถานพยาบาลให้สามารถจัดบริการประชาชนได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งในภาพรวมทั่วประเทศได้เตรียมไว้ทั้งหมด 30 ทีม ประกอบด้วยส่วนกลาง 6 ทีม และภูมิภาคอีก 24 ทีม พร้อมปฏิบัติการตลอด 24 ชั่วโมง โดยกำชับให้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดซึ่งที่ผ่านมายังไม่มีรายงานสถานพยาบาลได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม
ส่วนที่สอง ได้แก่ การดูแลประชาชนในพื้นที่เสี่ยง และพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วม ซึ่งกรม สบส. มีอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ที่ผ่านการอบรมและมีความเชี่ยวชาญด้านภัยพิบัติโดยเฉพาะ ประมาณ 90,000 กว่าคนทั่วประเทศ ดำเนินการจัดทำแผนป้องกันตั้งแต่ก่อนน้ำท่วม ระหว่างน้ำท่วม และการฟื้นฟูหลังน้ำลด โดยวิเคราะห์ความเสี่ยงของชุมชน ให้คำแนะนำประชาชนในการเตรียมพร้อมล่วงหน้า ทั้งการย้ายอุปกรณ์ไฟฟ้าให้ปลอดภัยเพื่อป้องกันไฟดูด การสำรองอาหาร น้ำ และยาของผู้ป่วยโรคเรื้อรัง รวมทั้งสำรวจประชาชนกลุ่มเสี่ยงที่ต้องให้การดูแลเป็นพิเศษ 5 กลุ่ม ได้แก่ ผู้ป่วยติดเตียง ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ และผู้พิการ พร้อมทั้งติดตามเฝ้าระวังป้องกันการขาดยาในกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคลมชัก เป็นต้น
ทั้งนี้ ได้เน้นย้ำให้ อสม.ในพื้นที่ประสบภัยที่น้ำลดแล้วดำเนินการให้ความรู้ คำแนะนำแก่ประชาชนในการดูแลความสะอาดบ้านเรือน ที่อยู่อาศัย การฟื้นฟูสภาพบ่อน้ำดื่มน้ำใช้ให้ปลอดภัย และให้คำปรึกษาในการดูแลสุขภาพจิตแก่ผู้ประสบภัย รวมถึงเฝ้าระวังโรคระบาดที่อาจจะเกิดขึ้นหลังน้ำลดโดยเฉพาะโรคระบบทางเดินอาหาร และโรคฉี่หนู
ข่าวเด่น