ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แถลงข่าวการจัดสัมมนาวิชาการประจำปี 2559 เรื่อง “มิติใหม่ของนโยบายเศรษฐกิจในยุคแห่งข้อมูล” (The Data Revolution: A New Paradigm for Economic Policy) ในวันที่ 15-16 กันยายน 2559 ณ ห้องบางกอกคอนเวนชั่น โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ เซ็นทรัลเวิลด์
การก้าวเข้าสู่ยุคดิจิตอลได้สร้างกระแสแห่งการเปลี่ยนแปลงที่กำลังพลิกโฉมโครงสร้างเศรษฐกิจและระบบการเงินอย่างไม่หยุดนิ่ง และนำไปสู่ความท้าทายในการติดตามและวัดชีพจรเศรษฐกิจจากข้อมูลสถิติในปัจจุบัน ที่มีความล่าช้าและไม่อาจครอบคลุมกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้ทั้งหมด ในขณะเดียวกัน นวัตกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมที่พัฒนาเป็นระบบดิจิทัลและดำเนินการผ่านอินเทอร์เน็ตมากขึ้น ได้สร้างกระแสข้อมูลจำนวนมหาศาลในหลากหลายรูปแบบ ซึ่งเมื่อนำมาผนึกกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในการเข้าถึง จัดเก็บ และประมวลข้อมูลขนาดใหญ่ ได้ส่งผลให้การวิเคราะห์วิจัยข้อมูลเชิงลึกมีบทบาทมากขึ้นทั้งในภาคธุรกิจ วงการวิชาการ และองค์กรรัฐทั่วโลก เพื่อใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมด้านข้อมูลในการสร้างโอกาสใหม่ๆ ทางธุรกิจ ในการทำความเข้าใจพฤติกรรมของผู้เล่น ในระบบเศรษฐกิจอย่างลึกซึ้งมากขึ้น รวมถึงเพื่อชี้นำและประเมินผลของนโยบายอย่างมีประสิทธิภาพ
สัมมนาวิชาการในปีนี้มุ่งที่จะแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของข้อมูลในการรังสรรค์ความรู้เชิงลึกที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจ ทั้งจากข้อมูลที่เกิดขึ้นได้จากเทคโนโลยีสมัยใหม่และข้อมูลขนาดใหญ่ของภาครัฐ ทั้งนี้ เพื่อสร้างความตื่นตัวเกี่ยวกับความสำคัญของการพัฒนาฐานข้อมูล รวมทั้งการมีกระบวนการบริหารที่เอื้อต่อการนำข้อมูลมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการดำเนินนโยบาย โดยจะมีการนำเสนองานวิจัยรวม 5 บทความ ซึ่งครอบคลุมการใช้ข้อมูลในรูปแบบต่าง ๆ ดังนี้
-การใช้ข้อมูลภาครัฐที่มีความละเอียดสูงในการวิเคราะห์เศรษฐกิจเชิงลึกและการประเมินผลของมาตรการภาครัฐ
o การวิเคราะห์บทบาทของสินเชื่อต่อการค้าระหว่างประเทศในมุมมองจุลภาค
o การศึกษาถึงผลกระทบของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและหนี้ครัวเรือนผ่านข้อมูลสินเชื่อเครดิตบูโร
- การใช้ประโยชน์จากเทคนิคการวิเคราะห์และข้อมูลรูปแบบใหม่ เพื่อนำไปสู่ข้อเสนอแนะใน การปรับปรุงประสิทธิภาพของนโยบายเศรษฐกิจ
o การวิเคราะห์การสื่อสารของนโยบายการเงินด้วยเทคนิคการแปลงข้อความเป็นข้อมูล
o การพัฒนาระบบประกันภัยพืชผลภาคเกษตรโดยการสร้างเครื่องชี้วัดความเสี่ยงของเกษตรกรจากข้อมูลการรับรู้ระยะไกลผ่านดาวเทียม
- การใช้ข้อมูลจากสื่อในยุคดิจิทัลในการพัฒนาเครื่องมือติดตามภาวะเศรษฐกิจ
o การศึกษาภาวะและโครงสร้างตลาดแรงงานไทยในมุมมองใหม่จากข้อมูลอินเทอร์เน็ต
ในปีนี้จะมีการนำเสนอในรูปแบบใหม่ภายใต้ชื่อ “Perspectives” โดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิที่จะมาให้ความรู้และจุดประกายความคิดเกี่ยวกับประเด็นสาคัญในยุคแห่งการปฏิวัติข้อมูล ในมุมมองที่กว้างขึ้นนอกเหนือไปจากการนำเสนอในบทความวิจัยข้างต้น
นอกจากนี้ ในงานจะมีปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “Global New Economy Needs New Data” โดยAndrew Sheng ปัจจุบันดารงตำแหน่งที่ปรึกษากิตติมาศักดิ์ของสถาบัน Asia Global Institute (Hong Kong)และเป็นที่ปรึกษาให้กับองค์กรทางการเงินและการลงทุนของภาครัฐอีกหลายแห่งในเอเชีย ท่านเป็นนักเขียนและนักคิดนักวิจารณ์ในประเด็นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโลกและการเงินระหว่างประเทศที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง
และในช่วงท้ายของงานสัมมนาจะมีการเสวนาในหัวข้อ “มิติใหม่ของเศรษฐกิจไทยในยุคแห่งข้อมูล”โดยผู้ทรงคุณวุฒิ 3 ท่าน ได้แก่ วรากรณ์ สามโกเศศ ประธานกรรมการบริหาร สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) พรรณสิรี อมาตยกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด และธีรนันท์ ศรีหงส์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน)
ธปท. จะจำหน่ายบัตรเข้าร่วมการสัมมนาตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ในราคาบัตรละ 3,000 บาท ผู้สนใจสามารถสำรองที่นั่ง/ซื้อบัตร และสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สายนโยบายการเงิน ธปท. โทร. 0 2283 6980, 0 2356 7516,0 2356 7389 โทรสาร 0 2282 5082 หรือ E-mail: BOTSymposium2016@bot.or.th หรือผ่าน website ธปท.www.bot.or.th
ข่าวเด่น