ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
กรมวิทย์ฯเผยผลสำรวจคุณภาพยาสมุนไพร 'ฟ้าทะลายโจร' ชนิดแคปซูล


 


กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เผยผลสำรวจคุณภาพยาสมุนไพร “ฟ้าทะลายโจร” ชนิดแคปซูล  พบร้อยละ 52 มีน้ำหนักผงยาฟ้าทะลายโจรในแคปซูลไม่ตรงกับที่แจ้งไว้ในฉลากยา ซึ่งอาจก่อให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์กับผู้บริโภค เตรียมปรับปรุงข้อกำหนดมาตรฐานของตำรายาสมุนไพรให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล และประสานหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องปรับเกณฑ์การขึ้นทะเบียนตำรับยาสมุนไพร พร้อมแนะผู้ผลิตพัฒนากระบวนการผลิตและมีการตรวจสอบควบคุมให้ถูกต้องก่อนปล่อยผลิตภัณฑ์ออกสู่ท้องตลาด

นายแพทย์อภิชัย มงคล  อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์  กล่าวว่า ฟ้าทะลายโจรเป็นสมุนไพรที่มีข้อบ่งใช้ในการบรรเทาอาการเจ็บคอ ลดไข้ และแก้ท้องเสีย และจัดอยู่ในยาพัฒนาจากสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติ แต่จากการพบรายงานการเกิดอาการไม่พึงประสงค์ที่มีความสัมพันธ์กับยาสมุนไพรฟ้าทะลายโจรมากขึ้น เช่น การเกิดอาการแพ้ที่ค่อนข้างรุนแรงต่อเนื่องกัน ทำให้ประชาชนผู้ใช้ยาสมุนไพรดังกล่าวมีความวิตกกังวล นำไปสู่การที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาจัดการความเสี่ยงดังกล่าว โดยให้ระบุข้อห้ามใช้ คำเตือน และอาการไม่พึงประสงค์ในฉลากและเอกสารกำกับยา

นายแพทย์อภิชัย กล่าวต่ออีกว่า สำนักยาและวัตถุเสพติด กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้สำรวจคุณภาพสมุนไพรฟ้าทะลายโจรแคปซูลที่จำหน่ายอยู่ในท้องตลาดในโครงการประกันคุณภาพยาปีงบประมาณ 2558 จำนวน 31 ตัวอย่างโดยใช้วิธีและมาตรฐานตามตำรามาตรฐานยาสมุนไพรไทย พบข้อสังเกตหลายประการเกี่ยวกับคุณภาพของยาฟ้าทะลายโจร ได้แก่ วัตถุดิบที่นำมาผลิตฟ้าทะลายโจร มีทั้งที่ผลิตจากใบและลำต้นบนดินบดละเอียด บางชนิดมีลักษณะเป็นผงที่ละเอียดมาก ซึ่งคาดว่าเป็นผงจากสารสกัดของฟ้าทะลายโจร ซึ่งไม่มีการแจ้งที่ฉลากให้ผู้บริโภคทราบ
 
 
นอกจากนี้ยังพบว่าน้ำหนักผงยาฟ้าทะลายโจรในแคปซูล ส่วนใหญ่ไม่ตรงกับที่แจ้งไว้ในฉลากยา โดยพบ 16 ตัวอย่างหรือคิดเป็นร้อยละ 52 ของตัวอย่างที่ตรวจ น้ำหนักเฉลี่ยของผงยาที่พบจริง มีค่ามากกว่าหรือน้อยกว่าตามที่ระบุในฉลาก 10-30% ซึ่งปริมาณผงยาในแต่ละแคปซูลจะเกี่ยวข้องกับปริมาณสารออกฤทธิ์ที่ผู้บริโภคได้รับ สอดคล้องกับการตรวจปริมาณสารสำคัญ คือ สารแอนโดรกราโฟไลด์ (andrographolide) พบตัวยา 1.9-13.8 มิลลิกรัมต่อแคปซูล จะเห็นได้ว่ามีความแปรปรวนสูงมากถึง 7 เท่า เมื่อคิดเป็นปริมาณที่ได้รับต่อวัน จะได้ 30-220 มิลลิกรัม ซึ่งในบางประเทศได้แนะนำขนาดปกติของปริมาณสารแอนโดรกราโฟไลด์ ที่ได้รับต่อวันไว้ที่ 60 มิลลิกรัม สำหรับการบรรเทาอาการเจ็บคอ ปัจจัยดังกล่าวเหล่านี้ทำให้ตัวอย่างยาฟ้าทะลายโจรของแต่ละผู้ผลิตมีปริมาณสารสำคัญแอนโดรกราโฟไลด์ แตกต่างกันมาก จนบางครั้งอาจส่งผลให้ผู้บริโภคได้รับสารสำคัญมากเกินไป และมีความสัมพันธ์กับอาการไม่พึงประสงค์ที่เกิดขึ้นกับยาฟ้าทะลายโจรได้

 
“การควบคุมคุณภาพของยาสมุนไพรมีความสำคัญมากทั้งต่อประสิทธิภาพและความปลอดภัย โดยเฉพาะยาฟ้าทะลายโจรที่มีรายงานการเกิดอาการแพ้ที่ค่อนข้างรุนแรงที่มากขึ้น  ดังนั้นผู้ผลิตควรพัฒนากระบวนการผลิตและมีการตรวจสอบควบคุมให้ถูกต้องก่อนปล่อยผลิตภัณฑ์ออกสู่ท้องตลาด ทั้งนี้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เตรียมประสานแจ้งข้อมูลดังกล่าวให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องสำหรับเป็นข้อมูลในการปรับหลักเกณฑ์การขึ้นทะเบียนตำรับยาสมุนไพรโดยมีข้อกำหนดมาตรฐานของผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสม และปรับปรุงข้อกำหนดมาตรฐานของตำรายาสมุนไพรให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล เพื่อให้ได้ยาสมุนไพรที่มีคุณภาพมาตรฐานและปลอดภัย  ซึ่งจะทำให้ผู้บริโภคมั่นใจในยาสมุนไพร ส่งผลให้การส่งเสริมการใช้ยาสมุนไพรเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน” นายแพทย์อภิชัย กล่าว



 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 19 ส.ค. 2559 เวลา : 17:54:44

22-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 22, 2024, 2:29 am