โฆษกรัฐบาล เผยรัฐบาลเห็นชอบยุทธศาสตร์ชาติแก้ปัญหาเชื้อดื้อยาเพื่อขับเคลื่อนมาตรการทั้งระบบตามแนวทางประชารัฐ ด้าน นายกฯ มอบให้ สธ. จัดทำแผนปฏิบัติการ ตั้งเป้าปี 2564 ผู้ป่วยเชื้อดื้อยาลดลงร้อยละ 50 พร้อมทั้งเร่งขยายการแพทย์ทางเลือกให้ครอบคลุมทุกพื้นที่
พลตรี สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า จากการประชุม ครม. ที่ผ่านมา (17 ส.ค.59) ที่ประชุมมีมติเห็นชอบแผนยุทธศาสตร์การจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพไทย พ.ศ. 2560 – 2564 ของกระทรวงสาธารณสุข ให้เป็นแผนยุทธศาสตร์ชาติ เพื่อยกระดับการทำงานให้สามารถหยุดยั้งปัญหาเชื้อดื้อยาทั้งประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งปัจจุบันเป็นสาเหตุให้ผู้ป่วยเสียชีวิตกว่า 38,000 รายต่อปี และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
“ปัญหาเชื้อแบคทีเรียดื้อยาต้านจุลชีพ หรือที่คุ้นเคยกันในชื่อ ยาปฏิชีวนะ สร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวงทั้งในภาคเศรษฐกิจและสังคม คนเจ็บป่วยเพียงเล็กน้อย หรือเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล เช่น การผ่าตัด ก็อาจติดเชื้อที่ดื้อยาปฏิชีวนะและเสียชีวิตได้ โดยสาเหตุสำคัญที่ทำให้เชื้อดื้อยาคือ การใช้ยาปฏิชีวนะกว่าร้อยละ 90 ในไทยเป็นไปอย่างไม่เหมาะสม ประชาชนหาซื้อได้ง่ายตามร้านขายยาทั่วไป โดยไม่ต้องพบแพทย์ จึงใช้ยาบ่อยกว่าที่ควรและไม่ครบตามปริมาณยา (โดส) ที่ควรใช้เพื่อกำจัดเชื้อโรคในร่างกายแต่ละครั้ง นอกจากนี้ จำนวนชนิดของยาปฏิชีวนะยังมีน้อย และพัฒนาไม่เท่าทันกับวิวัฒนาการของเชื้อโรค รวมถึงมีการนำยาปฏิชีวนะไปใช้กับภาคเกษตรกรรม เช่น การรักษาโรคพืชและสัตว์ ยิ่งมีการใช้ยาอย่างไม่เหมาะสมมากเท่าใด เชื้อยิ่งปรับตัวให้ทนทานต่อยาได้เร็วเท่านั้น จึงพบเชื้อดื้อยาแพร่กระจายไปทั่ว ทั้งในคน สัตว์ และสิ่งแวดล้อม”
พลตรี สรรเสริญ กล่าวต่อว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มอบให้ สธ. เร่งจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อให้ทุกหน่วยงานดำเนินการได้ตามแผนยุทธศาสตร์ โดยขับเคลื่อนการทำงานทั้งองคาพยพ ทั้งการให้ความรู้แก่ประชาชน สร้างระบบควบคุมการใช้ยาอย่างเหมาะสมทั้งสำหรับคนและสัตว์ สร้างความร่วมมือทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงสนับสนุนงานวิจัยและพัฒนาการจัดการเชื้อดื้อยา ให้ทุกภาคส่วนร่วมมือกันดำเนินการอย่างเร่งด่วนและจริงจังตามแนวทางประชารัฐ โดยตั้งเป้าว่าในปี 2564 จะมีการเจ็บป่วยจากเชื้อดื้อยาลดลงร้อยละ 50 และประชาชนจะมีความรู้เรื่องเชื้อดื้อยาและตระหนักว่าจะต้องใช้ยาอย่างเหมาะสมเพิ่มขึ้น ร้อยละ 20
“ท่านนายกฯ อยากให้ประชาชนหันมาใช้ยาแผนไทยให้มากขึ้น และได้ติดตามการขยายบริการทางการแพทย์แผนไทยเพื่อให้บริการคู่ขนานกับการแพทย์แผนปัจจุบันมาโดยตลอด ฝากกำชับ สธ. เร่งขยายให้ครอบคลุมทุกพื้นที่และให้เพียงพอกับจำนวนผู้ป่วยเพื่อเป็นทางเลือกแก่ประชาชน ซึ่งปัจจุบันมีการผลิตบุคลากรใน 27 สถาบัน ปีละกว่า 1,000 คน มีใบประกอบวิชาชีพที่ควบคุมจากสภาการแพทย์แผนไทยว่าสามารถวินิจฉัยโรคและจ่ายยาได้เช่นเดียวกับแผนปัจจุบัน อีกทั้ง รัฐบาลยังได้กำหนดให้ยาแผนไทยซึ่งทำจากสมุนไพรไทยบรรจุในตำรับยาหลักของชาติ โดยมีประกาศกฎกระทรวงสาธารณสุข ว่าด้วยการประกาศกำหนดตำรับยาและตำรับการแพทย์แผนไทยของชาติ รองรับ จึงมั่นใจได้ว่ามีความปลอดภัยและสามารถรักษาโรคได้อย่างแน่นอน”
ข่าวเด่น