กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เตือนโรงพยาบาลเอกชนที่จัดบริการตรวจสุขภาพเคลื่อนที่แก่พนักงาน นักศึกษาขอให้ปฏิบัติตามกฎหมาย มีมาตรฐานทั้งเครื่องมือแพทย์ บุคลากร แนะผู้ประกอบการก่อนทำสัญญาจ้าง ให้ตรวจดู 2หลักฐานสำคัญคือใบอนุญาตประกอบกิจการสถานพยาบาลและใบอนุญาตดำเนินการ หากพบแห่งใดใช้หมอ-เจ้าหน้าที่ปลอม มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปีอาจสั่งปิดสถานพยาบาลชั่วคราวได้ ขอความร่วมมือประชาชนแจ้งเบาะแสสายด่วน 02-193 7999
นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรมสบส.) กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้บริการตรวจสุขภาพเคลื่อนที่ ได้กลายเป็นช่องทางหาเงินของธุรกิจนอกกฎหมาย โดยฉวยโอกาสไปให้บริการตรวจสุขภาพเคลื่อนที่ให้แก่องค์กรหน่วยงาน สถานศึกษา ที่ไม่สะดวกให้บุคลากรหรือนักเรียนจำนวนมากเดินทางไปตรวจสุขภาพที่โรงพยาบาลตามสัญญาประกันสุขภาพหรือตรวจสุขภาพประจำปีที่เรียกว่าเช็คอัพ(Check up ) ซึ่งกรมสบส.ได้รับการร้องเรียนหลายจังหวัด โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีโรงงานอุตสาหกรรม เช่นลำพูน พระนครศรีอยุธยา ฉะเชิงเทรา เป็นต้น จึงขอย้ำเตือนให้สถานพยาบาลเอกชนที่จัดบริการตรวจสุขภาพเคลื่อนที่ ปฏิบัติตามกฎหมายคือพระราชบัญญัติสถานพยาบาลพ.ศ.2541อย่างเคร่งครัด เพื่อให้ผลการตรวจสุขภาพมีความถูกต้อง แม่นยำ ให้ผลดีแก่ประชาชนได้รับรู้สถานะสุขภาพของตนเอง นำมาสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อแก้ไขป้องกันการป่วย หรือได้รับรักษาอย่างถูกต้องเหมาะสม
อธิบดีกรมสบส.กล่าวว่า สถานพยาบาลที่สามารถจัดบริการตรวจสุขภาพเคลื่อนที่ได้ จะต้องเป็นสถานพยาบาลหรือเป็นโรงพยาบาลที่มีเตียงรับผู้ป่วยค้างคืนเท่านั้น คลินิกทั่วไปไม่สามารถดำเนินการได้ จะต้องมีสัญญาระหว่างสถานพยาบาลกับหน่วยงานหรือสถานศึกษาที่ไปตรวจ กำหนดให้รถเอ็กซเรย์ จะต้องมีมาตรฐานได้รับอนุญาตจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ มีนักรังสีเทคนิคเป็นผู้ให้บริการ และมีผลการสอบเทียบคุณภาพมาตรฐานของเครื่องประจำปีด้วย กรณีมีการตรวจชันสูตรทางห้องปฏิบัติการ เช่นตรวจเลือด อุจจาระ ปัสสาวะ จะต้องมีนักเทคนิคการแพทย์เป็นผู้ให้บริการ มีการบันทึกประวัติผู้ใช้บริการ ระบุวัน เวลา สถานที่ และชื่อผู้ประกอบวิชาชีพทั้งหมดที่ออกไปให้บริการ ซึ่งทุกวิชาชีพต้องมีใบประกอบโรคศิลปะ
หากไม่มีหลักฐานที่กล่าวมาจะถือว่าเป็นหน่วยตรวจสุขภาพเถื่อน มีโทษ 2 กระทง คือผู้ดำเนินการสถานพยาบาล จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับโทษฐานไม่ควบคุมดูแล ปล่อยให้บุคคลอื่นที่ไม่มีใบประกอบโรคศิลปะมาประกอบวิชาชีพ หากปรากฏว่าก่อให้เกิดอันตรายแก่ผู้รับบริการ อาจสั่งปิดสถานพยาบาลเป็นการชั่วคราวหรือเพิกถอนใบอนุญาต ส่วนผู้ประกอบวิชาชีพที่ไม่มีใบประกอบโรคศิลปะ จะมีความผิดแตกต่างกันตามสาขา เช่น แพทย์ มีโทษจำคุก 3 ปี ปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ทางด้านนายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร รองอธิบดีกรมสบส.กล่าวว่า สถานประกอบการหรือสถานศึกษาที่จะทำสัญญาว่าจ้างสถานพยาบาลเอกชนไปตรวจสุขภาพ ก่อนทำสัญญาขอให้ตรวจสอบหลักฐานสถานพยาบาล 2 ส่วนได้แก่ ใบอนุญาตประกอบกิจการสถานพยาบาล และใบอนุญาตผู้ดำเนินการสถานพยาบาลประเภทรับผู้ป่วยค้างคืน ซึ่งออกโดยกรมสบส. ขณะนี้มีโรงพยาบาลเอกชนที่ได้รับอนุญาตและขึ้นทะเบียนที่กรมสบส.ทั่วประเทศ 347 แห่ง สามารถตรวจสอบชื่อที่ตั้งและแพทย์ที่ได้รับอนุญาตดำเนินการได้ที่เว็บไซต์สำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ www.hss.moph.go.th จะต้องแสดงหนังสือแจ้งการให้บริการ มีรายชื่อผู้ให้บริการและหลักฐานใบประกอบโรคศิลปะของผู้ประกอบวิชาชีพแต่ละสาขา ใบอนุญาตรถเอ็กซเรย์จากสำนักงานพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ พร้อมแสดงใบแสดงผลการสอบเทียบเครื่องเอ็กซเรย์ประจำปีจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ส่วนในวันที่ตรวจสุขภาพจริง ขอให้ผู้บริหารสถานประกอบการ หรือสถานศึกษา ตรวจสอบบุคลากรที่ให้บริการในวันนี้ว่าตรงกับรายชื่อที่สถานพยาบาลแจ้งไว้หรือไม่ หากไม่ตรง ขอให้แจ้งที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดในพื้นที่ หรือแจ้งที่สายด่วนคุ้มครองผู้บริโภคด้านบริการสุขภาพ กรมสบส. หมายเลข 02-193-7999 ทันที เพื่อดำเนินการทางกฎหมายทันที
ทั้งนี้ สถานพยาบาลเอกชนที่จะให้บริการตรวจสุขภาพเคลื่อนที่ จะต้องแจ้งที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดในพื้นที่นั้นๆ ล่วงหน้าอย่างน้อย 5 วันทำการ แจ้งชื่อ ที่ตั้งสถานที่ที่จะไปให้บริการ รวมทั้งแจ้งพร้อมสำเนารายชื่อเจ้าหน้าที่ ผู้ประกอบโรคศิลปะด้วย
ข่าวเด่น