ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
เกษตรกรภาคตะวันออกขานรับนโยบายเกษตรอินทรีย์ เตรียมพร้อมรับ TPP


 


เกษตรกรกว่า 190 คน จาก 10 จังหวัดภาคตะวันออก เข้าร่วมสัมมนาให้ความรู้และรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับความตกลง TPP โดยเสนอให้ภาครัฐจัดตั้งกองทุนช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากความตกลงฯ และให้สนับสนุนเกษตรกรเข้าถึงเงินกองทุน FTA ได้ง่ายขึ้น 

นายวินิจฉัย แจ่มแจ้ง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2559 กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ร่วมกับกรมวิชาการเกษตร ได้ลงพื้นที่จัดสัมมนาให้ความรู้เกี่ยวกับความตกลง TPP และการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ภายใต้อนุสัญญา UPOV 1991 แก่เกษตรกรภาคตะวันออก ซึ่งเป็นแหล่งเพาะปลูกผลไม้ ได้แก่ ทุเรียน เงาะ มังคุด สัปปะรด รวมถึง ข้าว อ้อย มันสำปะหลัง และยางพาราที่สำคัญของไทย โดยมีผู้แทนจากสภาเกษตรกรแห่งชาติ สภาเกษตรกรจังหวัด สภาหอการค้าจังหวัด เครือข่ายเกษตรกร และภาควิชาการจาก 10 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี สระแก้ว ตราด ฉะเชิงเทรา ประจวบคีรีขันธ์ สระแก้ว และจันทบุรี เข้าร่วมการสัมมนา ณ จังหวัดชลบุรี 

 
นายวินิจฉัย กล่าวว่า การลงพื้นที่ครั้งนี้ได้รับทราบข้อเสนอของเกษตรกรที่ต้องการให้ภาครัฐดำเนินการ ได้แก่ การจัดตั้งกองทุนช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากความตกลง TPP และสนับสนุนให้เกษตรกรเข้าถึงเงินกองทุน FTA ได้ง่ายขึ้น เพื่อส่งเสริมการพัฒนาขีดความสามารถทางการแข่งขันของภาคเกษตรและปศุสัตว์ไทย การกำหนดมาตรฐานสินค้าเกษตรอินทรีย์ของไทยที่สอดคล้องกับมาตรฐานสากล และบังคับใช้มาตรฐานดังกล่าวกับสินค้าเกษตรอินทรีย์ทั่วประเทศอย่างเท่าเทียม มาตรการส่งเสริมให้เกษตรกรรายย่อยสามารถปฏิบัติตามมาตรฐานสากล เช่น GAP ได้เช่นเดียวกับเกษตรกรรายใหญ่ การขยายตลาดสินค้าเกษตรของไทยไปยังต่างประเทศ โดยเฉพาะสหรัฐฯ ยุโรปและญี่ปุ่น เพื่อกระจายสินค้าและรักษาเสถียรภาพราคาสินค้าเกษตรภายในประเทศ รวมถึงการขอรับการสนับสนุนพันธุ์พืชคุณภาพดีราคาถูกจากภาครัฐ และการจัดหาแรงงานถูกกฎหมายเข้าสู่ภาคเกษตรมากขึ้น 
 
นอกจากนี้ การลงพื้นที่ในครั้งนี้ ยังเป็นโอกาสในการสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องแก่เกษตรกรเกี่ยวกับข้อห่วงกังวลต่างๆ ได้แก่ เกษตรกรไม่สามารถนำเข้าพันธุ์พืชใหม่ที่มีคุณภาพดีจากต่างประเทศมาเพาะปลูกในไทย เนื่องจากเจ้าของสิทธิเกรงว่าหากนำเข้ามาเพาะปลูกเพื่อขายผลผลิตในไทย จะไม่ได้รับการคุ้มครอง เพราะไทยไม่ได้เป็นภาคีอนุสัญญา UPOV 1991 สำหรับเรื่องการจดทะเบียนพันธุ์พืชใหม่ที่เกิดจากการปรับปรุงพืช GMOs ในไทย ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากไทยยังไม่อนุญาตให้ใช้พืช GMOs อย่างแพร่หลาย จึงไม่สามารถใช้พืช GMOs เพื่อประโยชน์ในทางการค้า และไม่สามารถยื่นจดทะเบียนพันธุ์พืชใหม่ในไทยได้ ส่วนกรณีที่เกษตรกรจะเสียเปรียบด้านต้นทุนการผลิต โดยเฉพาะต้นทุนอาหารสัตว์ราคาสูง กระทรวงพาณิชย์มีนโยบายจัดตั้งสถาบันส่งเสริมสินค้าเกษตรนวัตกรรม เพื่อแปรรูปหรือเพิ่มมูลค่าอาหารสัตว์ ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการผลิตได้  
 
นายวินิจฉัย กล่าวเพิ่มเติมว่า ได้ชี้แจงเพื่อคลายข้อห่วงกังวลของเกษตรกรเรื่องสินค้าเกษตรและปศุสัตว์จากต่างประเทศจะทะลักเข้ามายังประเทศไทย จากการเปิดเสรีทางการค้ามากขึ้น ว่าไทยควบคุมการนำเข้าสินค้าเกษตร โดยใช้มาตรการโควต้าภาษี อย่างไรก็ดี การนำเข้าสินค้าเกษตรจากต่างประเทศเป็นจำนวนมาก อาจเกิดจากการสำแดงราคานำเข้าที่เป็นเท็จและการลักลอบนำเข้าสินค้าเกษตรอย่างผิดกฎหมาย ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ได้ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการคลัง และกรมศุลกากรในการตรวจสอบและป้องกันมิให้เกิดกรณีดังกล่าว นอกจากนี้ ได้กล่าวถึงการส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ ซึ่งเป็นวาระแห่งชาติ โดยกระทรวงพาณิชย์ได้กำหนดยุทธศาสตร์ในการส่งเสริมการตลาดสินค้าอินทรีย์ของไทย ระหว่างปี 2559-2564 เพื่อส่งเสริมการพัฒนาสินค้าเกษตรอินทรีย์ และขยายตลาดไปยังต่างประเทศ และในปีหน้าจะมีความร่วมมือกับประเทศเยอรมนีในการจัดงานแสดงสินค้าเกษตรอินทรีย์ที่ประเทศไทย 
 

บันทึกโดย : วันที่ : 22 ส.ค. 2559 เวลา : 07:00:23

22-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 22, 2024, 2:16 am