สถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม เผยการส่งออกอาหารของไทยครึ่งปีแรกขยายตัวค่อนข้างดี อยู่ที่ร้อยละ 9.9 มูลค่า 474,847 ล้านบาท เหตุทั่วโลกประสบภัยแล้ง ค่าเงินบาทอยู่ในระดับที่เอื้อต่อการส่งออก และตลาดอาเซียนยังเติบโตดีโดยเฉพาะกลุ่มประเทศ CLMV สินค้าส่งออกหลักขยายตัวสูงทั้งปริมาณและมูลค่า อาทิ กุ้ง น้ำผลไม้ สับปะรดกระป๋อง น้ำตาลทราย นมพร้อมดื่ม และกะทิสำเร็จรูป เชื่อครึ่งปีหลังภาพลักษณ์และความเชื่อมั่นต่อผลิตภัณฑ์อาหารในภาพรวม โดยเฉพาะสินค้าประมงไทย จะดีขึ้นหลังสหรัฐฯปรับสถานะของประเทศไทยมาอยู่ที่ระดับ Tier 2 คาดมูลค่าส่งออกอาหารของไทยทั้งปี 2559 จะเขยิบไปอยู่ที่ 972,000 ล้านบาทเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.0 สูงจากเดิมที่เคยประเมินไว้เมื่อต้นปีที่ ร้อยละ5.6
นายยงวุฒิ เสาวพฤกษ์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม เผยข้อมูลจากศูนย์อัจฉริยะเพื่ออุตสาหกรรมอาหาร ถึงภาพรวมการส่งออกอาหารของไทยช่วงไตรมาสที่ 2 ปี 2559 มีมูลค่า 235,629 ล้านบาท เพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 5.2 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการที่หลายประเทศประสบภัยแล้ง ทำให้มีความต้องการนำเข้าสินค้าอาหารเพื่อชดเชยผลผลิตพืชผลทางการเกษตรภายในประเทศที่ลดลง โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าพื้นฐานจำพวกข้าว แป้ง และน้ำตาล ประกอบกับค่าเงินบาทที่เคลื่อนไหวในช่วง 35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเป็นระดับที่เอื้ออำนวยต่อการส่งออก นอกจากนี้ยังได้รับปัจจัยบวกจากการฟื้นตัวของวัตถุดิบในอุตสาหกรรมกุ้ง รวมทั้งเศรษฐกิจและการค้าในกลุ่ม CLMV ที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้มีความต้องการสินค้าอุปโภคบริโภคโดยเฉพาะอาหารเพิ่มสูงขึ้น
สำหรับภาพรวมการส่งออกอาหารไทยในช่วง 6 เดือนแรก(ม.ค.-มิ.ย. 2559) มีมูลค่า 474,847 ล้านบาท เพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 9.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยสินค้าส่งออกหลักขยายตัวเพิ่มขึ้นทั้งปริมาณและมูลค่าเกือบทุกกลุ่มสินค้า โดยมีสินค้าที่ขยายตัวสูง ได้แก่ กุ้ง น้ำผลไม้ สับปะรดกระป๋อง น้ำตาลทราย นมพร้อมดื่ม และกะทิสำเร็จรูป ตลาดส่งออกหลักขยายตัวสูงมากในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน (+32.9%) ส่วนตลาดส่งออกอื่นๆ ขยายตัวดีในกลุ่มตลาดเดิม ได้แก่ ญี่ปุ่น (+9.0%) และสหรัฐฯ (+13.3%) เนื่องจากการส่งออกสินค้าหลัก อาทิ สับปะรด กระป๋อง กุ้งแช่แข็ง กลับมาขยายตัวเพิ่มขึ้นหลังจากปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบคลายตัวลง ส่วนตลาดใหม่ที่เป็นตลาดที่มีขนาดตลาดรองลงไปส่วนใหญ่หดตัวลง ได้แก่ แอฟริกา (-6.1%) และตะวันออกกลาง (-14.2%) โดยมีสาเหตุจากราคาน้ำมันที่ตกต่ำ ทำให้ผู้บริโภคมีกำลังซื้อลดลง ขณะที่ตลาดจีนขยายตัวเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 0.1 เนื่องจากการส่งออกสินค้าหลัก อย่างมันสำปะหลังที่ลดลง ซึ่งเป็นผลมาจากการที่ข้าวโพดในประเทศจีนมีราคาถูกและนำมาใช้ทดแทนมันสำปะหลังมากขึ้น รวมทั้งวัตถุดิบมันสำปะหลังของไทยมีปริมาณลดลงจากภัยแล้ง
"สำหรับแนวโน้มการส่งออกอาหารของไทยในครึ่งหลังของปี 2559 คาดว่าจะมีมูลค่า 497,153 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อัตราขยายตัวต่ำกว่าในครึ่งปีแรก โดยการส่งออกในไตรมาสที่ 3 ปี 2559 คาดว่าจะมีมูลค่า 240,316 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.7 และการส่งออกในไตรมาสที่ 4 คาดว่าจะมีมูลค่า 256,837 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.7 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยมีปัจจัยสนับสนุนการส่งออกสำคัญ ได้แก่ วัตถุดิบหลักโดยเฉพาะกุ้งที่มีปริมาณเพิ่มขึ้นมาก มีการขยายตัวของการส่งออกไปยังกลุ่มประเทศอาเซียนโดยเฉพาะ CLMV ประกอบกับสหรัฐฯ ปรับสถานะของประเทศไทยมาอยู่ที่ระดับ Tier 2 (Watch list) จากเดิมระดับ Tier 3 ในรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ฯ เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2559 ที่ผ่านมา ซึ่งมีส่วนช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์สินค้าไทยให้ปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะสินค้าประมง รวมทั้งราคาสินค้าอาหารในตลาดโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยสินค้าส่งออกหลักของไทยที่จะได้รับประโยชน์จากภาวการณ์ดังกล่าว ได้แก่ ข้าว น้ำตาลทราย น้ำมันปาล์ม เป็นต้น"
นายยงวุฒิ กล่าวต่อว่า ภาพรวมการส่งออกอาหารของไทยทั้งปี 2559 คาดว่าจะมีมูลค่า 972,000 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.0 เพิ่มขึ้นจากเดิมที่เคยประมาณการไว้ในช่วงต้นปีที่มูลค่า 950,000 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 5.6 เนื่องจากกุ้งและสับปะรด มีปริมาณผลผลิตเพิ่มมากขึ้น ค่าเงินบาทอยู่ในระดับที่เอื้อต่อการส่งออก หลายประเทศต้องการนำเข้าสินค้าอาหารมากขึ้น เพื่อชดเชยผลผลิตในประเทศที่ลดลงจากสถานการณ์ภัยแล้งเช่นเดียวกับในช่วงครึ่งปีแรก และจะเอื้อต่อการส่งออกในครึ่งปีหลัง นอกจากนี้ยังมีปัจจัยใหม่ที่จะส่งผลกระทบด้านบวกต่ออุตสาหกรรมอาหารไทยในครึ่งปีหลัง คือ ภาพลักษณ์และความเชื่อมั่นของสินค้าประมงไทยมีแนวโน้มดีขึ้น รวมทั้งแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกที่จะส่งผลดีต่อสินค้าส่งออกหลักของไทย อาทิ ข้าว น้ำตาลทราย น้ำมันปาล์ม เป็นต้น
สินค้าส่งออกหลักที่คาดว่ามูลค่าการส่งออกจะขยายตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ น้ำตาลทราย (+5.2%), ไก่ (+4.6%), ปลาทูน่ากระป๋อง (+6.2%), กุ้ง (+31.1%), น้ำผลไม้ (+28.7%), สับปะรดกระป๋อง (+21.0%), เครื่องปรุงรส (+9.3%), อาหารพร้อมรับประทาน (+3.7%), กะทิสำเร็จรูป (+18.8%), นมพร้อมดื่ม (+12.4%) ส่วนสินค้าส่งออกที่คาดว่าจะมีมูลค่าส่งออกลดลง ได้แก่ ข้าว (-3.7%) และมันสำปะหลัง (-9.3%)
ข่าวเด่น