กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เผยไทยยังพบผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสซิกา แต่ดำเนินการควบคุมโรคอย่างเข้มข้นและสามารถควบคุมโรคให้สงบลงได้ในเวลาที่เหมาะสม โดยในปีนี้มีรายงานผู้ป่วยมากกว่าทุกปี เป็นผลจากนโยบายเฝ้าระวังโรคที่เข้มข้น ที่ให้มีการสอบสวนโรคทุกครั้งทุกกรณีที่มีผู้ป่วยเข้าข่ายต้องสงสัยเป็นโรค และดำเนินการจนครบกระบวนการทางระบาดวิทยาเพื่อตรวจหาเชื้อแม้ค่าส่งตรวจจะแพง
นายแพทย์อำนวย กาจีนะ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงกล่าวถึงกรณีศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหภาพยุโรป(ECDC) ระบุว่าประเทศไทยมีสถานการณ์ของโรคติดเชื้อไวรัสซิกาในระดับสีแดง และนับเป็นประเทศที่รายงานพบผู้ป่วยมากที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นั้น จากการตรวจสอบแล้วพบว่าศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหภาพยุโรป มีการจัดแบ่งประเภทของประเทศที่มีรายงานการพบผู้ติดเชื้อ แตกต่างจากการจัดประเภทตามที่องค์การอนามัยโลกกำหนด ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ยอมรับทั่วโลก อีกทั้งข้อมูลในเว็ปไซด์ดังกล่าวไม่ได้สะท้อนถึงมาตรการป้องกันควบคุมโรคของแต่ละประเทศแต่อย่างไร
โดยในเว็ปไซด์ดังกล่าวแบ่งประเภทของประเทศที่มีรายงานการพบผู้ติดเชื้อตามที่มีรายงานการตรวจพบผู้ป่วยยืนยัน โดยแบ่งเป็น 3 ประเภทในแผนที่ คือ 1. สีเหลือง (Sporadic transmission) ประเทศที่มีรายงานพบผู้ป่วยไม่เกิน 10 ราย ในพื้นที่เดียวกัน 2. สีแดง (Increasing or widespread transmission) ประเทศที่มีการรายงานพบผู้ป่วยมากกว่า 10 ราย ในพื้นที่เดียวกัน หรือ มีรายงานพบผู้ป่วย 2 พื้นที่ในประเทศเดียวกัน หรือมีรายงานพบผู้ติดเชื้อในประเทศติดต่อกันมากกว่า 3 เดือน 3. สีฟ้า (Past transmission) ประเทศที่มีรายงานพบผู้ติดเชื้อตั้งแต่ปี 2007 แต่ไม่พบเมื่อ 3 เดือนย้อนหลัง ทั้งนี้กรมควบคุมโรคได้สืบค้นเพิ่มเติมในเรื่องของจำนวนผู้ป่วยของไทยในเว็บดังกล่าวแล้วแต่ไม่ปรากฏรายงานเป็นตัวเลขชัดเจน มีเพียงรูปภาพที่เป็นแผนที่เท่านั้น
นายแพทย์อำนวย กล่าวต่อว่า จำนวนผู้ป่วยที่ตรวจพบในประเทศไทย นั้น สะท้อนถึงความตระหนัก มาตรการเฝ้าระวัง การวินิจฉัยโรค และการเปิดเผยข้อมูล ซึ่งระบบของประเทศเรานั้นได้รับการยอมรับจากนานาชาติ ขอประชาชนอย่าตื่นตระหนก โรคนี้ส่วนใหญ่ป่วยแล้วหายได้เอง มีปัญหาเฉพาะกับหญิงตั้งครรภ์ซึ่งมีหลักฐานทางระบาดวิทยาที่บ่งชี้ว่าอาจสัมพันธ์กับอาการศีรษะเล็กในทารกแรกเกิด โดยทั่วไปหญิงตั้งครรภ์หากติดเชื้อต่างๆ เช่น หัดเยอรมัน และไข้ขี้แมว เป็นต้น ก็อาจส่งผลถึงลูกในครรภ์ได้เช่นกัน อาทิเช่น มารดาหากติดเชื้อหัดเยอรมัน ทารกที่เกิดมาอาจมีความพิการ ตาบอด หัวใจพิการ และมารดาที่ติดเชื้อไข้ขี้แมวทารกที่เกิดมาอาจมีความพิการทางสมองได้ ดังนั้น หญิงตั้งครรภ์ต้องระมัดระวังมากกว่าคนปกติ ในด้านสุขอนามัย ไม่คลุกคลีคนป่วย ไม่คลุกคลีสุนัขและแมวจรจัด ป้องกันไม่ให้ยุงกัด และฝากครรภ์ตามกำหนด
ประเทศไทยมีมาตรการเฝ้าระวังป้องกันและควบคุมโรคนี้ 4 ด้านได้แก่ 1.การเฝ้าระวังทางระบาดวิทยา 2.การเฝ้าระวังทางกีฏวิทยา 3.การเฝ้าระวังทารกแรกเกิดที่มีความพิการแต่กำเนิด และ 4.การเฝ้าระวังกลุ่มอาการทางระบบประสาท นอกจากนี้ได้กระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศให้โรคติดเชื้อไวรัสซิกา เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ซึ่งหากพบผู้ป่วยแล้วไม่รายงานแก่เจ้าพนังงานควบคุมโรคติดต่อ จะมีความผิดตาม พรบ. ดังกล่าว ในส่วนมาตรการระหว่างประเทศนั้น เน้นการดำเนินการตามกฎอนามัยระหว่างประเทศ และคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก ทั้งนี้หลายประเทศในอาเซียนยังไม่มีระบบเฝ้าระวังทำให้ตรวจจับผู้ป่วยไม่ได้ ซึ่งแต่ละประเทศอยู่ในช่วงพัฒนาระบบเฝ้าระวังเช่นกัน โดยองค์การอนามัยโลกจะมีการหารือผู้เชี่ยวชาญจากทั่วโลกเพื่อพิจารณามาตรการเพิ่มเติมสำหรับโรคติดเชื้อไวรัสซิกา ต่อไป
“สรุปโดยภาพรวม สถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสซิกาในประเทศไทยขณะนี้ ยังไม่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม คือ 1)ประเทศไทยยังมีรายงานพบผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสซิกา 2)หลังดำเนินการควบคุมโรคอย่างเข้มข้นก็จะสามารถควบคุมโรคให้สงบลงได้ในเวลาที่เหมาะสม 3)ยังไม่พบการระบาดที่ต่อเนื่องยาวนาน และ 4)ยังไม่พบผู้ป่วยได้รับผลกระทบเป็นจำนวนมาก ซึ่งโรคไข้ซิกาส่วนใหญ่ป่วยแล้วหายได้เอง ส่วนใหญ่อาการโรคไม่รุนแรงไม่มีอันตรายถึงเสียชีวิต มีปัญหาเฉพาะกับหญิงตั้งครรภ์ อาการที่พบบ่อย ได้แก่ มีไข้ ออกผื่น ตาแดง ปวดข้อ อาการเหล่านี้ทุเลาลงได้เองภายในเวลา 2-7 วัน ประชาชนสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422" นายแพทย์อำนวย กล่าวย้ำ
ข่าวเด่น