ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ประกวดเกษตรครบวงจร นนทบุรี-อยุธยา-ปทุม-สระบุรี สศท.7 โชว์จุดเด่น เกษตรกรเข้มแข็ง


 


            
สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 7 เผยพื้นที่ประกวดโครงการพัฒนาการเกษตรครบวงจรในพื้นที่ที่มีศักยภาพ เขตตรวจราชการที่ 1 จังหวัดนนทบุรี พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี และจังหวัดสระบุรี  ย้ำจุดเด่นโครงการแต่ละที่ เกิดจากความเข้มแข็งในชุมชน ทั้งรูปแบบระบบริหารจัดการน้ำ การร่วมมือร่วมใจของเกษตรกร และการทำไร่นาแบบสวนผสม
 

นายคมสัน จำรูญพงษ์  รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงโครงการพัฒนาการเกษตรครบวงจรในพื้นที่ที่มีศักยภาพ เขตตรวจราชการที่ 1 โดยนางอัญชนา ตราโช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 7 จังหวัดชัยนาท (สศท.7) เป็นประธานคณะทำงานประกวดการดำเนินงานฯ ซึ่งได้จัดประชุมคณะทำงานฯ เพื่อตรวจเอกสารหลักฐาน และออกตรวจเยี่ยมพื้นที่ การประกวดโครงการฯ เรียบร้อยแล้วระหว่างวันที่ 16 – 19 สิงหาคม 2559 ที่จังหวัดนนทบุรี พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี และจังหวัดสระบุรี
 

สำหรับจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และสระบุรี ส่งพื้นที่การดำเนินโครงการฯ ในปี 2557 ประเภทกลุ่มย่อยที่ 1 มิติแผนงานโครงการ และผลผลิต ผลลัพธ์ เข้าประกวด โดยโครงการของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ดำเนินการที่หมู่ที่ 2 4 5 และ 6 ตำบลสิงหนาท อำเภอลาดบัวหลวง ซึ่งอยู่ในเขตโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาพระยาบันลือ มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการจำนวน 127 ครัวเรือน พื้นที่เข้าร่วมโครงการจำนวน 2,333 ไร่ หน่วยงานเข้าร่วมบูรณาการจำนวน 19 หน่วยงาน กิจกรรมหลักของเกษตรกรในโครงการคือการทำนา ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว การปลูกผักปลอดภัยได้รับมาตรฐาน GAP เพื่อส่งออก การเลี้ยงแพะ ด้านจุดเด่นของโครงการ คือการบริหาร จัดการน้ำ เนื่องจากเป็นพื้นทีน้ำท่วมซ้ำซาก มีการใช้พลังงานแสงอาทิตย์เพื่อสูบน้ำ ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในระบบชลประทานแบบน้ำหยด การรวมกลุ่มจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าว กลุ่มจำหน่ายพืชผักปลอดภัย เป็นต้น

จังหวัดสระบุรีมีพื้นที่ดำเนินการหมู่ที่ 1 – 6 ตำบลเขาดินพัฒนา อำเภอเฉลิมพระเกียรติ  ซึ่งอยู่ในเขตโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยหินขาว มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการจำนวน 70 ครัวเรือน พื้นที่เข้าร่วมโครงการจำนวน 1,620 ไร่ หน่วยงานเข้าร่วมบูรณาการจำนวน 11 หน่วยงาน กิจกรรมหลักของเกษตรกรในโครงการคือการทำนา ปลูกอ้อยโรงงาน และการทำการเกษตรผสมผสานตามแนวทฤษฎีใหม่ จุดเด่นของโครงการคือการวางระบบชลประทานแบบท่อ ถึงบ่อพักน้ำในไร่นาเกษตรกร ทำให้มีการใช้น้ำอย่างประหยัดและมีประสิทธิภาพ เกษตรกรสามารถทำไร่ นาสวนผสม ปลูกพืชหลายชนิดมีรายได้ทุกวัน เช่นการปลูกข้าวโพด ดอกไม้สำหรับร้อยมาลัย การปลูกมะนาวในบ่อซีเมนต์ การปลูกผักพื้นบ้านที่ปลอดภัย การเลี้ยงปลา และการเลี้ยงปศุสัตว์ เป็นต้น

จังหวัดนนทบุรีและปทุมธานี ส่งพื้นที่การดำเนินโครงการฯ ปี 2558 ประเภทกลุ่มย่อยที่ 2 เฉพาะมิติแผนงานโครงการเข้าประกวด  โดยจังหวัดนนทบุรีดำเนินการในพื้นที่หมู่ที่ 9 ตำบลบ้านใหม่ อำเภอบางใหญ่ ซึ่งอยู่ในเขตโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาพระพิมล มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการจำนวน 88 ครัวเรือน พื้นที่เข้าร่วมโครงการจำนวน 1,368 ไร่ หน่วยงานเข้าร่วมบูรณาการจำนวน 12 หน่วยงาน กิจกรรมหลักของเกษตรกรในโครงการคือการทำนา และปลูกพืชผักปลอดภัยและได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP มีพ่อค้ามารับซื้อถึงพื้นที่ การทำนามีการปรับเปลี่ยนการปลูกข้าวขาวเป็นข้าวพันธุ์ปทุมธานี 1 และการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว เพื่อให้ได้เมล็ดพันธุ์มาตรฐานสำหรับหมุนเวียนใช้ภายในหมู่บ้าน จุดเด่นของโครงการอยู่ที่ความร่วมมือของเกษตรกรดีเยี่ยม มีการตั้งกลุ่มไลน์เพื่อประชาสัมพันธ์และรายงานสถานการณ์น้ำให้เกษตรกรรับทราบอย่างทั่วถึง นอกจากนี้ ยังมีการบริหารจัดการเครื่องจักรกลแทนการใช้แรงงานคนเช่นเครื่องโรยเมล็ดพันธุ์ข้าวงอก เครื่องอัดฟางข้าว เป็นต้น

จังหวัดปทุมธานีดำเนินการในพื้นที่หมู่ที่ 6 ตำบลนพรัตน์ อำเภอหนองเสือ อยู่ในพื้นที่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษารังสิตเหนือ มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการจำนวน 110 ครัวเรือน พื้นที่เข้าร่วมโครงการจำนวน 2,018 ไร่ หน่วยงานเข้าร่วมบูรณาการจำนวน 11 หน่วยงาน กิจกรรมหลักของเกษตรกรในโครงการ คือ การปลูกกล้วยหอม และพืชผัก ในพื้นที่ร่องสวนเดิมที่เลิกจากการปลูกส้มเขียวหวาน จุดเด่นของโครงการอยู่ที่การจัดการไร่นาแบบผสมผสาน เกษตรกรสามารถพึ่งพาตนเองได้ มีรายได้ตลอดทั้งปี เช่นการเลี้ยงไก่พันธุ์ไข่ การเลี้ยงปลาและกบในร่องสวน เป็นต้น








 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 24 ส.ค. 2559 เวลา : 13:21:02

22-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 22, 2024, 2:53 am