การยางแห่งประเทศไทยได้เร่งขับเคลื่อน และเพิ่มประสิทธิภาพในทุกๆ ด้านขององค์กร เพื่อให้สามารถตอบสนองกับนโยบายของรัฐบาลในการเร่งพัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกรชาวสวนยาง รวมถึงผู้ที่เกี่ยวข้องให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน และมีประสิทธิภาพสูงสุด โดยมีผลการดำเนินงานที่สำคัญดังนี้
ดร.ธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การยางแห่งประเทศไทย ได้ดำเนินโครงการส่งเสริมการใช้ยางในหน่วยงานภาครัฐ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2559 ซึ่งหลังปิดโครงการฯ เมื่อเดือนมิ.ย. 59 ที่ผ่านมา กยท. รับซื้อยางได้ทั้งหมด 2,892 ตัน จากเกษตรกร 26,676 ราย ใช้เงินไปเพียง 122 ล้านบาท
ทั้งนี้ จากการสำรวจความต้องการใช้ยางในหน่วยงานภาครัฐทั้ง 10 หน่วยงาน ได้แก่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงกลาโหม กระทรวงคมนาคม กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงมหาดไทย กระทรวงวัฒนธรรม และกรุงเทพมหานคร ปรากฏว่ามีการลดความต้องการใช้ยางภายในหน่วยงาน จากเดิมแจ้งมาที่ 80,580 ตัน (ข้อมูลวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2559) มาเป็น 4,844 ตัน (ข้อมูล 7 มิถุนายน 2559) เนื่องจากหลายหน่วยงานยังติดปัญหาในเรื่องของงบประมาณ และบางหน่วยงานลดการใช้ยางจากเดิมในปีงบประมาณนี้ แต่ได้เตรียมแผนดำเนินการจัดซื้อยางเพิ่มเติมในปี 2560 ต่อไป ทั้งนี้ หากหน่วยงานภาครัฐมีการแจ้งแผนการรับมอบยางที่ชัดเจนมาเพิ่มเติม กยท. จะเร่งประสานกับเกษตรกร สถาบันเกษตรกร หรือผู้ประกอบการ ในการจำหน่ายยางให้หน่วยงานภาครัฐต่อไป
ปัจจุบัน กยท.ได้จำหน่ายยางในโครงการฯ ให้กับผู้ประกอบกิจการยางในประเทศไปแล้ว จำนวน 980 ตัน แบ่งเป็น ยางแผ่นรมควัน ชั้น 3,4,5 และยางคัตติ้ง จำนวน 73 ตัน และยางแท่ง STR20 จำนวน 907 ตัน เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายในด้านคุณภาพ และลดภาระค่าใช้จ่ายในการเก็บรักษา และมียางในโครงการฯ คงเหลือในสต๊อกอีกจำนวน 1,960 ตัน แบ่งเป็น ยางแผ่นรมควันอัดก้อน จำนวน 1,229 ตัน ยางแท่ง STR20 จำนวน 724 ตัน น้ำยางข้น จำนวน 2 ตัน และยางแผ่นรมควัน ชั้น 3,4,5 และยางคัตติ้ง จำนวน 3 ตัน ซึ่ง กยท. จะพิจารณาหาแนวทางเร่งรัดการจัดจำหน่ายยางที่คงเหลือในสต๊อกต่อไป
ในด้านนโยบายและทิศทางการพัฒนายางพาราไทยทั้งระบบครบวงจร ด้านการพัฒนาและส่งเสริมเกษตรกร/สถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง นายเชาว์ ทรงอาวุธ โฆษกการยางแห่งประเทศไทย แถลงว่า ยางพันธุ์ดี นับเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการปลูกยางและผลผลิตของเกษตรกรชาวสวนยาง การยางแห่งประเทศไทย โดยทุกๆ 4 ปี จะมีการประกาศคำแนะนำพันธุ์ยางใหม่ เพื่อเป็นข้อมูลให้เกษตรกรสามารถเลือกพันธุ์ยางได้หลากหลายมากขึ้น ช่วยลดความเสี่ยงจากการปลูกยางของประเทศที่จะมีพันธุ์ใดพันธุ์หนึ่งมากเกินไป ซึ่งการยางแห่งประเทศไทย โดยสถาบันวิจัยยางได้พิจารณาพันธุ์ยางใหม่ที่ผ่านการวิจัยปรับปรุงพันธุ์ให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งในส่วนของพื้นที่ปลูกยางเดิมและพื้นที่ปลูกยางใหม่ เพื่อเพิ่มผลผลิตน้ำยางและเนื้อไม้ ยางพันธุ์ดีประจำปี พ.ศ. 2559 แบ่งเป็น ยางพันธุ์ดีชั้น 1 , 2 และ 3 ได้แก่
ทั้งนี้ ยางพันธุ์ดีชั้น 1 เป็นพันธุ์ยางที่ผ่านการวิจัยและพัฒนาพันธุ์มาอย่างดี สามารถปลูกได้ในทุกพื้นที่ ในส่วนของยางพันธุ์ดี ชั้น 2 กยท.แจงว่าประสิทธิภาพในการให้ผลผลิตอาจยังไม่ดีเท่าที่ควร ยังอยู่ในระหว่างการศึกษาทดลอง เช่น ข้อมูลโรคยาง ข้อมูลผลผลิตที่ได้ จึงแนะนำให้ปลูกในพื้นที่ปลูกยางพันธุ์ดีชั้น 2 และ 3 ไม่ควรเกินร้อยละ 50 ของพื้นที่ปลูกทั้งหมด ควรจะปลูกแบบคละสายพันธุ์ เพื่อลดการเกิดโรคระบาดในสวนยางได้ อย่างไรก็ตาม สถาบันวิจัยยาง การยางแห่งประเทศไทย ได้ออกหนังสือ คำแนะนำพันธุ์ยาง ปี 2559 เนื้อหาเพื่อให้ความรู้ในเรื่องพันธุ์ยาง พื้นที่ปลูกที่เหมาะสม โรคระบาดในสวนยาง เกษตรกรชาวสวนยางหรือผู้ที่สนใจสามารถติดต่อขอรับทราบข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สถาบันวิจัยยาง การยางแห่งประเทศไทย บางเขน กรุงเทพฯ หรือศูนย์วิจัยยางจังหวัด หรือ www.rubberthai.com
ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อได้วิจัยและส่งเสริมการปลูกยางพันธุ์ดีแล้ว จำเป็นจะต้องส่งเสริมช่องทางตลาดยางพาราควบคู่ด้วย ซึ่งประเทศไทย ได้เข้าร่วมประชุมระดับรัฐมนตรีของสภาไตรภาคียางพารา (International Tripartite Rubber Council :ITRC) ร่วมกับ อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ณ ประเทศอินโดนีเซีย เพื่อร่วมกันเดินหน้ากำหนดนโยบายในการให้แต่ละประเทศสมาชิกจัดตั้งตลาดกลางยางพาราระดับภูมิภาค (Regional Rubber Market: RRM) ซึ่งเป็นตลาดยางซื้อขายในภูมิภาคผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์เท่านั้น โดยอ้างอิงการทำธุรกรรมตาม พ.ร.บ. ธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544 โดยที่สมาชิกจะทำการซื้อขายในตลาดกลางยางพาราระดับภูมิภาคได้ทุกวันทำการ (จันทร์-ศุกร์) โดยแบ่งช่วงเวลาซื้อขายเป็น 2 รอบ คือ 09.00-11.00 น. และ 13.00-17.00 น. ชนิดของยางที่ใช้ทำสัญญาซื้อขายยาง คือ ยางอัดก้อน STR20 และยางแผ่นรมควันชั้น 3 (RSS3) โดยที่หนึ่งหน่วยการซื้อขายจะอยู่ที่ ประมาณ 20 ตัน/หน่วย ราคาที่ใช้ในการซื้อขายเป็นราคา (FOB) ที่ท่าเรือส่งออก ผู้ซื้อและผู้ขายยางในระบบตลาดยางภูมิภาคในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ จะต้องทำการยืนยันตัวตนในการเข้าใช้งานด้วย Username และ Password และผู้ซื้อจำเป็นต้องวางเงินประกันสัญญาไม่ต่ำกว่าร้อยละ 10 ของปริมาณยางที่จะซื้อเพื่อให้เจ้าหน้าที่ตลาดยางตรวจสอบรับรองเงินประกันสัญญา ในส่วนของผู้ขายจะต้องแจ้งปริมาณยางที่จะขาย เพื่อเจ้าหน้าที่ตรวจสอบรับรองปริมาณยาง
โดยการยางแห่งประเทศไทยในฐานะตัวแทนของประเทศไทย ได้ดำเนินการตั้งคณะทำงานการจัดตั้งตลาดกลางยางพาราระดับภูมิภาค เพื่อทำหน้าที่จัดตั้งตลาดกลางยางพาราระดับภูมิภาค กำหนดข้อบังคับ กฎระเบียบอนุญาโตตุลาการและตลาด รวมทั้งกำหนดหลักเกณฑ์เงื่อนไขของโรงงานผู้ผลิตที่จะเข้ามาใช้บริการตลาดอิเล็กทรอนิกส์ พร้อมทั้งแต่งตั้งคณะกรรมการตลาดกลางยางพาราระดับภูมิภาค เพื่อให้คณะกรรมการชุดนี้ทำหน้าที่กำหนดนโยบาย และแผนการดำเนินงาน ร่างข้อกำหนด ระเบียบ ข้อบังคับการซื้อขายยางรวมถึงควบคุมและกำกับการดำเนินงานของตลาดกลางยางพาราระดับภูมิภาค ให้เป็นไปตามโยบายกำหนด
นอกจากนี้ กยท. ยังมีการแต่งตั้งคณะทำงานดำเนินงานตลาดกลางยางพาราระดับภูมิภาค เพื่อนำนโยบายต่างๆ มากำหนดแผนกลยุทธ์ด้านการตลาด การซื้อขายในระบบซื้อขายอิเล็กทรอนิกส์ ประสานงานสมาชิกผู้ซื้อขาย ดูแลระบบการเงินและบัญชี สัญญา ตรวจสอบปริมาณและคุณของสินค้าเพื่อรับรองก่อนเข้าตลาดกลางยางพาราระดับภูมิภาค
นายสุนันท์ นวลพรหมสกุล โฆษกการยางแห่งประเทศไทย แถลงประเด็นการให้ความช่วยเหลือเกษตรกร ว่า สถานการณ์ราคายางพาราที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำ ยังไม่ฟื้นตัวเท่าที่ควร ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มอบหมายให้การยางแห่งประเทศไทย เร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาราคายางเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยาง ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลมีหลายโครงการที่ช่วยพยุงราคายางในตลาดและสร้างความสมดุลกับระบบตลาดยางนั้น แต่ก็ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรชาวสวนยางในหลายครัวเรือน เพราะปัจจัยแวดล้อมหลายๆ อย่าง อาทิ สภาพภูมิอากาศ สภาพเศรษฐกิจ เป็นต้น ดังนั้น การยางแห่งประเทศไทยได้เร่งจัดทำโครงการเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรทั้งหมด 4 โครงการ ได้แก่
โครงการที่ 1 โครงการยางพาราแลกปุ๋ยบำรุงภายใต้แนวทางพัฒนายางพาราทั้งระบบ โดยให้เกษตรกรหรือสถาบันเกษตรกรนำยางพาราของเกษตรกรและสถาบันเกษตรกรหรือยางของการยางแห่งประเทศไทยมาแลกเปลี่ยนกับปุ๋ยบำรุง ซึ่งยางพาราดังกล่าวนั้น บริษัทฯ ผู้ประกอบกิจการยางหรือผู้ผลิตปุ๋ยบำรุงจะยางพาราเก็บเข้าสต็อกเพื่อลดปริมาณยางในตลาดและแปรรูป เพิ่มมูลค่าให้ยางพารา เป็นการส่งเสริมการดำเนินการพัฒนายางพาราทั้งระบบ มีระยะเวลาในการดำเนินการโครงการ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2559 – 30 กันยายน 2560
โครงการที่ 2 โครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบการยาง การยางแห่งประเทศไทย ได้หารือกับสมาคมน้ำยางข้นไทยเพื่อเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาราคายางตกต่ำและลดภาระงบประมาณของรัฐ โดยอาศัยความร่วมมือจากผู้ประกอบการยางให้มีการดูดซับยางพาราออกจากระบบนำมาเก็บสต็อกของผู้ประกอบการในลักษณะหมุนเวียน เป็นการลดปริมาณยางในตลาด ซึ่งจะส่งผลให้ราคายางในตลาดปรับตัวเพิ่มขึ้นและมีเสถียรภาพมากขึ้น มีระยะเวลาในการดำเนินการโครงการ 2 ปี ระหว่างเดือนตุลาคม 2559 – กันยายน 2561
โครงการที่ 3 โครงการสนับสนุนสินเชื่อสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง โครงการนี้ ให้สถาบันเกษตรกรชาวสวนยางมีบทบาทสำคัญในการรับซื้อผลผลิตยางจากเกษตรกรชาวสวนยางเพื่อสร้างอำนาจในการต่อรองกับพ่อค้า แต่ยังมีข้อจำกัดในด้านโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการซื้อขายยางและสถานที่ประกอบการไม่เอื้ออำนวยต่อการดำเนินงานรับซื้อขายยางจากเกษตรกร และยังขาดเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินการ เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว การยางแห่งประเทศไทย จึงเสนอให้มีการสนับสนุนสินเชื่อสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง ดอกเบี้ยผ่อนปรน ซึ่งสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางสามารถนำไปใช้ปรับปรุงสถานที่และจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ในการดำเนินงานของสถาบันฯ ในช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดได้ เป็นการยกระดับการผลิตและการตลาดในระดับสถาบันเกษตรกรให้สูงขึ้น มีระยะเวลาในการดำเนินการโครงการ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2559 – 30 กันยายน 2569
โครงการที่ 4 โครงการพักชำระหนี้สถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง จากผลกระทบราคายางที่ผ่านมา รัฐบาลเร่งให้ความช่วยเหลือสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางต่างๆ ตามแนวทางการพัฒนายางทั้งระบบ โดยช่วยเหลือในด้านการเงินสนับสนุนเงินทุนหมุนเวียนในรูปแบบต่างๆ และเพิ่มศักยภาพของสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางในการผลิต แต่สถานการณ์ปัจจุบัน ราคายางยังไม่ฟื้นตัวเท่าที่ควร เพื่อเป็นการช่วยเหลือสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง โครงการพักชำระหนี้สถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง จะเป็นอีกหนึ่งโครงการช่วยลดภาระสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางที่ต้องชำระหนี้ให้แก่สถาบันการเงิน และที่สำคัญ ยังสนับสนุนกิจการของสถาบันเกษตรกรให้เข้มแข็งและก้าวเดินต่อไปได้ ซึ่งมีระยะเวลาในการดำเนินการโครงการ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2559 – 30 กันยายน 2560
นอกจากนี้ การยางฯ ยังดำเนินกิจกรรมเปิดตลาดยางพาราแปรรูปประเภทยางแผ่นรมควันไม่อัดก้อนและแบบอัดก้อน หรือยางลูกขุน ให้ได้มาตรฐานระบบการจัดการคุณภาพที่ดี (Good Manufacturing Practice : GMP ในต้นเดือนกันยายนนี้ โดยจะนำร่องที่จังหวัดสุราษฎร์ฯ โดยมีชุมนุมสหกรณ์ตรัง ดำเนินการส่งออกอยู่แล้วร่วมดำเนินการโครงการด้วย เพื่อเป็นการยกระดับคุณภาพของสหกรณ์หลายๆ สหกรณ์ที่มีศักยภาพในการแปรรูปเพิ่มมูลค่ายางพารา และจะขยายการนำร่องร่วมกับสหกรณ์อื่นๆ เพิ่มเติม อาทิ กระบี่ นครศรีธรรมราช เป็นต้น
นายสุนันท์ นวลพรหมสกุล กล่าวต่อว่า ตามที่พระราชบัญญัติการยางแห่งประเทศไทย ระบุไว้ว่ายางพาราไม่ใช่แค่น้ำยางพาราเท่านั้น แต่รวมถึงไม้ยางพาราด้วย ซึ่งประเทศไทยส่งออกไม้ยางพารามูลค่ามากถึง ๔.๕ พันล้านบาทต่อปี แต่ปัจจุบันเราส่งออกไม้ยางพาราแค่ในประเทศจีนเพียงประเทศเดียว ในขณะที่ประเทศในแถบยุโรป และประเทศญี่ปุ่น มีความต้องการไม้ยางพารา แต่เนื่องจากถ้าไม่มีการรับรองคุณภาพไม้ยางในระดับสากล จะไม่สามารถส่งออกไปยังประเทศเหล่านี้ได้ ดังนั้น การยางแห่งประเทศไทยจึงร่วมกับสภาอุตสาหกรรม จัดตั้งองค์กรกลาง เพื่อดำเนินการออกใบรับรองคุณภาพไม้ยางพาราหรือ (ทีเอฟซีซี) โดยที่ กยท. จะเข้ามามีบทบาทในฐานะคณะกรรมการด้วย ซึ่งโครงการดังกล่าว จะเข้ามาช่วยเหลือเกษตรกรที่รับการสนับสนุนการปลูกแทนจาก กยท. เมื่อมีความต้องการโค่น หรือตัดเพื่อปลูกแทน และต้องการส่งออกไม้ยางพารา ราคาไม้ยางพาราเหล่านี้จะมีมูลค่าเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวจะนำร่องในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช และจังหวัดระยอง คาดว่าโครงการสามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จไม่เกินกลางปีหน้าอย่างแน่นอน
ส่วนเกษตรกรที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ ตอนนี้ กยท.เขตทุกเขต ได้เปิดให้เกษตรกรมาแจ้งข้อมูล แต่มิใช่เป็นการรับรองสิทธิการเป็นเกษตรกรชาวสวนยางตาม พ.ร.บ.การยางฯ และความชอบธรรมในการครอบครองสิทธิ แต่เป็นการแจ้งข้อมูล เพื่อใช้เป็นข้อมูลพื้นที่การปลูกยางพารา เพื่อที่ กยท. จะดำเนินการกำหนดนโยบายด้านยางพารา” นายเชาว์ กล่าวทิ้งท้าย
ข่าวเด่น