“สวนดุสิตโพล” มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่องกระแสข่าวนายกรัฐมนตรีคนนอก โดยสอบถามความคิดเห็นจากประชาชนทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,167 คน สำรวจระหว่างวันที่ 22-26 ส.ค. 2559 พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 76.69 ระบุเป็นเรื่องสำคัญที่คนสนใจและอยากติดตาม อยากรู้ว่าจะมีนายกฯ คนนอกได้จริงหรือไม่ รองลงมาร้อยละ 70.61 ระบุเป็นวิธีการสรรหารูปแบบใหม่ ที่ทำให้พรรคการเมืองและนักการเมืองได้รับผลกระทบ และร้อยละ 67.52 ควรให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและเป็นหน้าที่ของฝ่ายที่เกี่ยวข้องพิจารณา
เมื่อถามว่านายกรัฐมนตรีควรมาจากที่ใด ส่วนใหญ่ร้อยละ 55.04 ระบุคนจากพรรคการเมือง หรือคนนอกก็ได้ เพราะขึ้นอยู่กับตัวบุคคล หากเป็นคนดี มีความรู้ความสามารถก็ควรให้โอกาส อย่างไรก็ได้แต่ขอให้เป็นประชาธิปไตย ขณะที่ร้อยละ 32.61 ระบุ ควรมาจากพรรคการเมืองที่เสนอชื่อเข้ามา เพราะเป็นวิธีสากล ประเทศไทยใช้วิธีนี้มานาน จะได้เป็นผู้แทนที่มาจากการพรรคการเมืองอย่างแท้จริง และร้อยละ 12.35 เห็นว่าควรมาจากคนนอกที่มีการเสนอชื่อเข้ามา เพราะเปิดโอกาสให้คนนอกที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาทำงาน อยากเห็นการเปลี่ยนแปลง อยากให้แต่ละพรรคเว้นวรรค
คุณสมบัติของนายกรัฐมนตรีที่ประชาชนอยากได้ อันดับ 1 ร้อยละ 83.74 คือ เป็นคนดี ซื่อสัตย์ มีคุณธรรม รักชาติบ้านเมืองและประชาชน รองลงมาร้อยละ 75.58 เป็นคนเก่ง มีความรู้ความสามารถ ประวัติดี เป็นที่ยอมรับ และร้อยละ 64.95 เป็นผู้นำที่ดี มีวิสัยทัศน์ บุคลิกภาพและมนุษยสัมพันธ์ดี
เมื่อถามว่าประชาชนพึงพอใจสภาพการเมืองไทยขณะนี้มากน้อยเพียงใด ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 37.68 ระบุค่อนข้างพอใจ เพราะการเมืองไทยกำลังเดินหน้าสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น มีการตรวจสอบ ปราบปรามทุจริตคอรัปชั่นมากขึ้น ขณะที่ร้อยละ 33.77 ไม่ค่อยพอใจ เพราะยังขาดความสามัคคี มีความขัดแย้ง แบ่งพรรคแบ่งพวก ถูกปิดกั้น ควบคุมสิทธิเสรีภาพ มีร้อยละ 15.40 ไม่พอใจ เพราะยังไม่สามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้ ปัญหาการเมืองฝังรากลึกมานาน มุ่งหวังแต่อำนาจและผลประโยชน์ และร้อยละ 13.15 ระบุพอใจมาก เพราะรัฐบาลควบคุมดูแลเข้มงวด ไม่มีความวุ่นวาย ต่างชาติให้ความเชื่อมั่นมากขึ้น กำลังจะมีการเลือกตั้ง
ข่าวเด่น