ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
กรมควบคุมโรค แนะถูกสุนัข/แมว กัดหรือข่วน รีบพบแพทย์เพื่อรับวัคซีนให้ครบชุด


 


         
วันนี้ (27 สิงหาคม 2559) นายแพทย์อำนวย กาจีนะ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า โรคพิษสุนัขบ้าเป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน ผู้ติดเชื้อและแสดงอาการแล้วจะเสียชีวิตทุกราย โดยผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เกิดจากถูกสุนัขเลี้ยงเองและสุนัขเพื่อนบ้านที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคกัดหรือข่วน อย่างไรก็ตาม ในประเทศไทยมีจำนวนสุนัขทั้งสิ้น 7.4 ล้านตัว แต่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าเพียงร้อยละ 23 ของจำนวนสุนัขทั้งหมดเท่านั้น กรมควบคุมโรค จึงขอแนะนำให้เจ้าของพาสุนัขของตนเองไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า เมื่อสุนัขมีอายุ 2-3 เดือนขึ้นไป และฉีดวัคซีนเป็นประจำทุกปี นอกจากนี้ ต้องขึ้นทะเบียนสัตว์เลี้ยง เลี้ยงสุนัขอย่างรับผิดชอบ ไม่ปล่อยทิ้งเป็นสุนัขจรจัด ก็เป็นอีกวิธีที่ประชาชนสามารถช่วยรัฐในการแก้ปัญหาได้
         
 
นายแพทย์อำนวย กล่าวต่อไปว่า สำหรับสถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้า ข้อมูลจากสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค พบว่าตั้งแต่ปี 2554 – 2558 พบผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้า 7, 7, 7, 5, 5 ราย ตามลำดับ ส่วนปี 2559 นี้ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 7 สิงหาคม 2559 มีผู้เสียชีวิตด้วยโรคพิษสุนัขบ้าแล้ว 7 ราย จากจังหวัดฉะเชิงเทรา 2 ราย และจังหวัดตาก ระยอง สมุทรปราการ สงขลา ศรีสะเกษ จังหวัดละ 1 ราย
          
สำหรับสาเหตุของการติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้านั้น ส่วนใหญ่เกิดจากการถูกสุนัขหรือแมวกัด-ข่วน แล้วไม่ได้รับการดูแลรักษาหรือเข้ารับฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าอย่างถูกต้อง ดังนั้นหากถูกสุนัขหรือแมวที่สงสัยว่าเป็นโรคกัด ข่วน เลีย น้ำลายกระเด็นเข้าทางตา ปาก หรือทางผิวหนังที่มีบาดแผล ควรรีบปฐมพยาบาล ล้างแผลทันทีด้วยน้ำและฟอกด้วยสบู่หลายๆครั้ง แล้วเช็ดแผลด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อโพวีโดนไอโอดีน ถ้าไม่มีให้ใช้แอลกอฮอล์ 70% หรือทิงเจอร์ไอโอดีน จากนั้นไปโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดทันที เพื่อรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า
         
 ทั้งนี้ โอกาสที่คนจะติดเชื้อหลังถูกสัตว์ที่ป่วยหรือมีเชื้อโรคกัดหรือข่วน ขึ้นอยู่กับจำนวนเชื้อโรคที่เข้าไปในร่างกาย สายพันธุ์ของเชื้อ รวมถึงตำแหน่งที่ถูกกัด สำหรับระยะฟักตัวของโรคนั้น มีตั้งแต่ 1 สัปดาห์หรืออาจนานเกิน 1 ปี ส่วนอาการของโรคพิษสุนัขบ้า เริ่มจาก 2-3 วันแรก ผู้ป่วยจะเบื่ออาหาร เจ็บคอ ปวดเมื่อยตามเนื้อตัว มีไข้ อ่อนเพลีย ชา เจ็บเสียว หรือปวดบริเวณรอยแผลที่ถูกกัด คันอย่างรุนแรงที่แผลและลำตัว ต่อมาจะมีอาการกระสับกระส่าย กลัวแสง กลัวลม ไม่ชอบเสียงดัง เพ้อเจ้อ กลืนลำบาก โดยเฉพาะของเหลว กลัวน้ำ และกล้ามเนื้อขากระตุก แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก หรืออาจชัก เกร็ง อัมพาต หมดสติ และตายในที่สุด
        
มาตรการสำคัญในการป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า กรมควบคุมโรคได้ระบุให้โรคพิษสุนัขบ้าเป็นหนึ่งในโรคที่ต้องแจ้งความต่อเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ ตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อพ.ศ. 2558 หากพบผู้ป่วยต้องแจ้งให้กระทรวงสาธารณสุขทราบทันที และได้วางแนวทางการป้องกันโรคไว้ 3 ขั้นตอน ดังนี้ 1. ก่อนถูกกัด ใช้หลักการคาถา 5 ย. ป้องกันการถูกกัด ได้แก่ “อย่าแหย่ อย่าเหยียบ อย่าแยก อย่าหยิบ อย่ายุ่ง” อย่าแหย่ให้สุนัขโมโห อย่าเหยียบสุนัข หรือทำให้สุนัขตกใจ อย่าแยกสุนัขที่กำลังกัดกันด้วยมือเปล่า อย่าหยิบชามอาหารขณะสุนัขกำลังกิน และอย่ายุ่งกับสุนัขนอกบ้านหรือที่ไม่ทราบประวัติ 2.กรณีถูกกัด ให้รีบล้างแผลด้วยสบู่และน้ำสะอาดหลายๆครั้ง ใส่ยาฆ่าเชื้อ เช่น เบตาดีน และรีบไปพบแพทย์โดยทันที เพื่อเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคอย่างเหมาะสม รวมถึงกักขังสัตว์ที่กัดสังเกตอาการอย่างน้อย 10 วัน หากสัตว์ตัวนั้นมีอาการปกติแสดงว่าไม่มีเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า แต่หากสุนัขหรือแมวเสียชีวิต ให้รีบแจ้งกรมปศุสัตว์หรือสถานเสาวภาเพื่อส่งตรวจหาเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าทางห้องปฏิบัติการ และ 3.หลังจากถูกกัด ควรรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าอย่างต่อเนื่องครบชุดตามเวลาที่แพทย์นัด
        
“เนื่องด้วยวันป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าโลก (World Rabies Day) ตรงกับวันที่ 28 กันยายนของทุกปี ในปีนี้ กรมควบคุมโรคได้กิจกรรมรณรงค์ป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าตลอดทั้งเดือนกันยายน โดยความร่วมมือของ 6 หน่วยงานภาคีเครือข่าย ได้แก่  1.มหาวิทยาลัยมหิดล  2.จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  3.กรุงเทพมหานคร  4.สภากาชาดไทย  5.กรมปศุสัตว์ และ 6.กรมควบคุมโรค หากประชาชนมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422 ” นายแพทย์อำนวย กล่าวปิดท้าย
 
 

บันทึกโดย : วันที่ : 27 ส.ค. 2559 เวลา : 16:06:39

22-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 22, 2024, 2:51 am