ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “ความเข้าใจของประชาชนในคำถามพ่วงที่ผ่านการลงประชามติ” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 23 – 24 สิงหาคม 2559 จากประชาชนที่มี อายุ 18 ปี ขึ้นไป และเป็นผู้มีสิทธิออกเสียงลงประชามติทั่วประเทศ กระจายทุกระดับการศึกษา และอาชีพ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,250 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับความเข้าใจในคำถามพ่วงที่ให้สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) สรรหา ในช่วงเปลี่ยนผ่าน 5 ปี มีสิทธิร่วมกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร โหวตเลือกนายกรัฐมนตรี
จากผลการสำรวจ เมื่อถามถึงความเข้าใจของประชาชนเกี่ยวกับสิทธิของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ในการร่วมกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) โหวตเลือกนายกรัฐมนตรีในช่วงเปลี่ยนผ่าน 5 ปี พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 36.24 มีความเข้าใจว่า ส.ว. สรรหา มีสิทธิทั้งเสนอชื่อผู้สมควรเป็นนายกฯ และร่วมกับ ส.ส. โหวตเลือกนายกรัฐมนตรี รองลงมาร้อยละ 33.68 ไม่เข้าใจ/ไม่ทราบรายละเอียดเลย ร้อยละ 27.60 มีความเข้าใจว่า ส.ว. สรรหามีสิทธิร่วมกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีเท่านั้น ร้อยละ 1.76 มีความเข้าใจในระดับหนึ่ง แต่ยังมีความก้ำกึ่งอยู่ ทราบแค่ว่านายกรัฐมนตรี จะไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง และร้อยละ 0.72 ระบุว่า ส.ว. ไม่มีสิทธิใด ๆ ในการเลือกนายกรัฐมนตรี อย่างมากก็มีสิทธิเพียงแค่เสนอชื่อเท่านั้น
ด้านความเข้าใจของประชาชนเกี่ยวกับขั้นตอนการเข้ามามีส่วนร่วมของ ส.ว. ในการพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ในช่วงเปลี่ยนผ่าน 5 ปี พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 37.12 มีความเข้าใจว่า หาก ส.ส. ไม่สามารถเลือกนายกรัฐมนตรีได้ จึงจะเปิดโอกาส ให้ ส.ว. สรรหาสามารถมีส่วนร่วมกับ ส.ส. พิจารณาเลือกบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้ง เป็นนายกรัฐมนตรี รองลงมาร้อยละ 33.20 ไม่เข้าใจ/ไม่ทราบรายละเอียดเลย ร้อยละ 28.08 มีความเข้าใจว่า ส.ว. สรรหามีส่วนร่วมกับ ส.ส. พิจารณาเลือกบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีตั้งแต่การเปิดประชุมครั้งแรก ร้อยละ 0.88 มีความเข้าใจในระดับหนึ่ง แต่ยังมีความก้ำกึ่งอยู่ ทราบแค่ว่าจะมีการเลือกนายกรัฐมนตรี และอาจจะมีการเลือกตั้งใน ปี 2560 และร้อยละ 0.72 ไม่ระบุ/ไม่มีความเห็น
ท้ายที่สุด เมื่อถามถึงความเข้าใจของประชาชนเกี่ยวกับคุณสมบัติบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ในช่วง เปลี่ยนผ่าน 5 ปี พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 47.68 มีความเข้าใจว่า เป็นการพิจารณาเลือกนายกรัฐมนตรี จากผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้หรือคนนอกก็ได้ รองลงมาร้อยละ 26.56 มีความเข้าใจว่า เป็นการพิจารณาเลือกนายกรัฐมนตรีจากผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้เท่านั้น ร้อยละ 24.08 ไม่เข้าใจ/ไม่ทราบรายละเอียดเลย ร้อยละ 0.72 มีความเข้าใจในระดับหนึ่ง แต่ยังมี ความก้ำกึ่งอยู่ ทราบแค่ว่าจะมีการเลือกนายกรัฐมนตรี และร้อยละ 0.96 ไม่ระบุ/ไม่มีความเห็น
ข่าวเด่น