ปลัดสธ.กำชับสถานบริการในสังกัดทั่วประเทศ ดูแลสิทธิประโยชน์ด้านการรักษาให้กลุ่มคนไร้สถานะ/คนไร้รัฐ ที่รัฐบาลได้ขยายเลขบัตรประชาชน
นายแพทย์โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ประเทศไทยมีนโยบายให้การบริการสุขภาพทุกคนที่อาศัยอยู่ในประเทศโดยไม่เลือกปฏิบัติ โดยเฉพาะในกลุ่มคนไร้สถานะ/คนไร้รัฐ (stateless) ที่รัฐบาลได้ขยายเลขบัตรประชาชน ทำให้มีโอกาสเข้าถึงหลักประกันสุขภาพ การศึกษาและสวัสดิการด้านต่างๆ ช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตให้กลุ่มคนเหล่านี้อย่างมาก โดยคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 23 มีนาคม2553จัดตั้ง“กองทุนให้สิทธิ (คืนสิทธิ) ขั้นพื้นฐานด้านสาธารณสุขสำหรับบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ” 457,409 คน และมีมติเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2558 อนุมัติการให้สิทธิ (คืนสิทธิ)ขั้นพื้นฐานด้านสาธารณสุขเพิ่มเติม 208,631 คน ส่วนกลุ่มเด็กและบุคคลที่เรียนอยู่ในสถานศึกษาของประเทศไทย 76,540 คนนั้น ให้กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย และสภาความมั่นคงแห่งชาติตรวจสอบข้อมูลเพื่อยืนยันความถูกต้องและรับรองการขึ้นทะเบียนของกลุ่มบุคคลดังกล่าวก่อนแล้วเสนอครม.พิจารณาต่อไป
โดยบุคคลตามมติ ครม.วันที่ 20 เมษายน2558 ประกอบด้วย 3 กลุ่ม ดังนี้ 1. ชนกลุ่มน้อยที่อพยพเข้ามาในประเทศไทย ซึ่งเป็นบุคคลเป้าหมายของยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคล 150,076 คน 2.บุตรของบุคคลตามกลุ่มเป้าหมายฯ 56,672 คน 3. บุคคลกลุ่มอื่นๆ เช่น บุคคลที่ขึ้นทะเบียนไว้ตามโครงการเฉลิมพระเกียรติ ๘๔ พรรษาฯ 1,883 คน โดยในปีงบประมาณ 2559 มีผู้มีสิทธิด้านสาธารณสุข 552,493 คน รัฐบาลได้สนับสนุนงบประมาณดูแลค่ารักษาพยาบาล 1,279,152,900 บาท
สำหรับสิทธิประโยชน์ในการเข้ารับบริการ ประกอบด้วย การสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค การตรวจวินิจฉัยโรค การตรวจและรับฝากครรภ์ ยาและเวชภัณฑ์ รวมยาต้านไวรัสเอดส์ การบำบัดและการบริการทางการแพทย์ อวัยวะ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ การคลอด ครอบคลุมการคลอดบุตรรวมกันไม่เกิน 2 ครั้ง กรณีที่บุตรมีชีวิตนับแต่มี มติ ครม. ค่ายาและห้องผู้ป่วยสามัญ การบริบาลทารกแรกเกิด ค่ารถพยาบาลส่งต่อผู้ป่วย ซึ่งสิทธิประโยชน์ที่จัดให้นั้นเทียบเคียงกับสิทธิประโยชน์ของกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ยกเว้นการคลอดบุตร รวมกันไม่เกิน 2 ครั้ง ย้ายสถานบริการได้ปีละ 1 ครั้ง และยกเว้นการเข้ารับการรักษาโรงพยาบาลเอกชน ทั้งนี้ ได้กำชับให้สถานบริการในสังกัดทุกแห่งดูแลสิทธิประโยชน์ด้านการรักษาให้กลุ่มบุคคลเหล่านี้อย่างครอบคลุม อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุข ได้ให้การรักษาพยาบาลทุกคนที่อาศัยในประเทศไทย แม้จะไม่มีสิทธิรักษาใดๆ เน้นยึดตามหลักมนุษยธรรม
สำหรับกลุ่มพื้นเมือง มันนิหรือมานิ ในพื้นที่ อ.มะนัง อ.ควนกาหลง จ.สตูล นั้น ปัจจุบันวิถีชีวิตเริ่มเปลี่ยนเป็นคนเมืองมากขึ้น ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมามีแนวโน้มเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลมากขึ้น มีความไว้วางใจในบริการมากขึ้น สื่อสารกันด้วยภาษาไทยท้องถิ่นภาคใต้ และมีความคุ้นเคยกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ได้รับการดูแลรักษาเป็นอย่างดี ซึ่งโรงพยาบาลทุกแห่งให้บริการโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายมาตลอด
ข่าวเด่น