สสว. MOU กับ 4 หน่วยงานภาคี ยกระดับมาตรฐานแก่ SMEs ขนาดเล็กและ OTOP กลุ่มอาหารและเกษตรแปรรูปให้ได้ใบอนุญาต อย.
สสว. จับมือภาคีได้แก่ อย. ธพว. CENTAL LAB THAI และสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย ยกระดับมาตรฐานสินค้าแก่ SMEs ขนาดเล็กและ OTOP กลุ่มอาหารและเกษตรแปรรูปให้ได้ใบอนุญาต อย. เพื่อให้สามารถวางจำหน่ายในร้านค้าประเภท Modern Trade และขายบนตลาดออนไลน์ได้กว้างขวางขึ้น นำร่องช่วย SMEs 800 ราย ในพื้นที่ 4 จังหวัดได้แก่ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม ราชบุรี และนครปฐม
สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) จัดให้มีการแถลงข่าวและพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือโครงการประเมินศักยภาพในการแข่งขันของ SMEs ระหว่าง สสว. และหน่วยงานภาคี โดย นางสาลินี วังตาล ผู้อำนวยการ สสว. มีรายละเอียด ดังนี้
สสว. ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(เฉพาะกิจ) โดยมีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ให้ดำเนินโครงการประเมินศักยภาพการแข่งขันของ SMEs (SMEs Scoring) ซึ่งเป็นที่มาของการแถลงข่าวและพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือ 2 ฉบับ ในวันนี้ ประกอบด้วย
1. บันทึกความร่วมมือระหว่าง สสว. และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) สาระของ MOU ฉบับนี้คือ เพื่อให้ SMEs ขนาดเล็ก และผู้ประกอบการกลุ่ม OTOP โดยให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการให้มีความเข้าใจในขั้นตอนการขออนุญาต อย. การตรวจสถานประกอบการและสุขอนามัยของน้ำ และวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตสินค้า ก่อนที่จะส่งสินค้าสำเร็จรูปไปขอจดแจ้งคุณค่าโภชนาการ (รายละเอียดของส่วนประกอบอาหารหรือที่เรียกว่า Nutrition Facts )โดยในระยะแรกจะเริ่มจากกลุ่มอาหารที่มีความเสี่ยงต่ำและมีความเสี่ยงปานกลาง ในการขึ้นทะเบียนกับ อย.
2.บันทึกความร่วมมือระหว่าง สสว. และหน่วยงานภาคี ได้แก่ สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME development Bank บริษัท ห้องปฏิบัติการกลาง (ประเทศไทย) จำกัด หรือ CENTRAL LAB THAI สาระของ MOU ฉบับนี้มีดังนี้
(1) สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย นำ SMEs ขนาดเล็กที่ผลิตสินค้าประเภทอาหารและเกษตรแปรรูปจำนวน 800 รายจาก 4 จังหวัดนำร่อง ได้แก่ สมุทรสงคราม สมุทรสาคร ราชบุรี นครปฐม ที่ต้องการจะมีใบอนุญาต อย. เข้าร่วมโครงการประเมินศักยภาพในการแข่งขันของ SMEs เพื่อเป็นการยกระดับมาตรฐานสินค้าและการขยายตลาด สสว. จะประสานงานกับหน่วยที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ความรู้กับผู้ประกอบการ SMEs เหล่านี้ เกี่ยวกับขั้นตอนต่างๆ ที่ต้องดำเนินการ เพื่อให้สามารถจดทะเบียนกับ อย. ได้ ที่สำคัญได้แก่ การจัดสถานประกอบการและขบวนการผลิตให้ถูกสุขลักษณะตามมาตฐานของ อย. การควบคุมคุณภาพของน้ำที่ใช้ในการผลิต ตลอดจนการวิเคราะห์ส่วนประกอบของอาหาร (Nutrition Facts)
(2) สสว. ร่วมกับบริษัท ห้องปฏิบัติการกลาง (ประเทศไทย) จำกัด (CENTRAL LAB THAI) ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง สสว. กับกระทรวงการคลัง ทำหน้าที่เป็นผู้เชี่ยวชาญให้องค์ความรู้ และเตรียมความพร้อมให้ SMEs ในเรี่องการจัดสถานประกอบการให้ถูกสุขลักษณะ และการวิเคราะห์ส่วนประกอบของอาหาร (Nutrition Facts) สสว. ได้จัดเตรียมคูปอง OSMEP Voucher แจกให้ SMEs ที่เข้าร่วมโครงการใช้บริการทดสอบสินค้าประเภทอาหารและเกษตรแปรรูป ในห้องแล็บของ CENTRAL LAB THAI เพื่อนำผลการวิเคราะห์จากห้องแล็บไปขอการรับรองจากสำนักงานมาตรฐานอาหารและยา (อย.)
(3) SME development Bank ทำหน้าที่สนับสนุนด้านเงินทุนสำหรับผู้ประกอบการในกรณีที่ต้องมีการปรับปรุงสถานประกอบการ หรือเพื่อซื้อวัตถุดิบในการผลิต
สำหรับในระยะแรก พื้นที่ดำเนินการจะอยู่ใน 4 จังหวัดนำร่อง ได้แก่ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม เพชรบุรี และราชบุรี และนอกจากนี้ ยังสนับสนุนให้ผู้ประกอบการ OTOP ในโครงการร้านค้าประชารัฐสุขใจให้มีความรู้ ความเข้าใจในการขอขึ้นทะเบียน อย .อีกด้วย
นพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า ปัจจุบัน ผู้ประกอบการSMEs มีอุปสรรคในการยื่นขออนุญาตสถานที่ผลิตอาหารและผลิตภัณฑ์อาหาร เพราะขาดองค์ความรู้ในการยื่นขออนุญาต ทั้งในด้านการเตรียมเอกสารและเตรียมสถานที่ผลิตก่อนการขออนุญาต ดังนั้น เพื่อพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการให้มีความรู้ความเข้าใจในการขออนุญาต และมีความพร้อมในการขออนุญาตอย่างถูกต้องและเพื่อให้การพิจารณาอนุญาตรวดเร็วยิ่งขึ้น ตลอดจนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการ SMEs ที่จะผลิตผลิตภัณฑ์อาหารให้มีความปลอดภัย คุ้มค่า สมประโยชน์และเป็นที่ยอมรับ จึงเกิดการบูรณาการความร่วมมือ กันระหว่าง อย. และ สสว. ในการสำรวจข้อมูลผู้ประกอบการ และวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อจัดอบรมให้ผู้ประกอบการ SMEs ในพื้นที่นำร่อง 4 จังหวัดดังกล่าว
นายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว. หรือ SME Development Bank) กล่าวว่า การประสานความร่วมมือในครั้งนี้ ถือเป็นหนึ่งในแนวทางการยกระดับ ธพว. ให้เป็น Real Development Bank เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการที่มีศักยภาพได้มีมาตรฐาน อย. โดยในครั้งนี้ ธพว.จะดำเนินการ ร่วมประชาสัมพันธ์ โครงการอันเป็นประโยชน์นี้ ให้แก่ลูกค้าของธนาคารได้รับทราบ และเชิญเข้าร่วมโครงการ นอกจากนี้ผู้ประกอบการที่ได้รับการตรวจประเมินและเข้าเยี่ยมชมกิจการ หากมีความเห็นว่าจะต้องปรับปรุงกระบวนการผลิตหรือโรงงาน ทางธนาคาร ได้จัดเตรียมโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (solf loan) ไว้คอยให้บริการผู้ประกอบการด้วย โดยสินเชื่อดังกล่าว มีอัตราดอกเบี้ยเพียง 4% / ปี และสามารถให้วงเงินรายละไม่เกิน 15 ล้านบาท ผ่อนได้นานถึง 7 ปี ซึ่งจะเหมาะกับผู้ประกอบการที่ต้องการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรในโครงการนี้เป็นอย่างมาก
ข่าวเด่น