วันนี้(29 ส.ค.) นายปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการ คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงรายงานภาวะสังคมไทยไตมาส 2 ของ ปี 2559 พบว่า มีการจ้างงาน 37,393,472 คน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 0.9% โดยการจ้างงานภาคเกษตรลดลง 6.2% เนื่องจากแรงงานส่วนหนึ่งอยู่ระหว่างรอฤดูกาลเพาะปลูกที่เหมาะสม ส่วนภาคนอกเกษตรยังคงมีการจ้างงานเพิ่มขึ้นเล็กน้อย 1.4 % เป็นการเพิ่มขึ้นในสาขาการก่อสร้างโรงแรมและภัตตาคาร การขนส่งและจัดเก็บสินค้า 5.4 % 4.0 % และ 0.9 %ตามลำดับ แต่สาขาการผลิตมีการจ้างงานที่ลดลง1.7 %
การว่างงานในไตรมาสสอง พบว่าการว่างงานเพิ่มขึ้น ในไตรมาสสองมีผู้ว่างงาน 411,124 คน เพิ่มขึ้น 22.3 % และคิดเป็นอัตราการว่างงานเท่ากับ 1.08 % เทียบกับ0.88% ในไตรมาสเดียวกันของปี 2558 โดยผู้ที่ทั้งเคยและไม่เคยทำงานมาก่อนมีการว่างงาน เพิ่มขึ้น31.3% และ 13.7% ตามลำดับ ในส่วนของผู้ที่เคยทำงานมาก่อนว่างงานเพิ่มสูงขึ้นมากจากปีที่แล้วนั้นสอดคล้องกับข้อมูลผู้ประกันตนที่ขึ้นทะเบียนขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานที่เพิ่มขึ้น 8.9 % ซึ่งเป็นการว่างงานจากกรณีเลิกจ้างเพิ่มขึ้น 34.8% และจากกรณีลาออกเพิ่มขึ้น3.4 % ขณะที่ผู้ว่างงานที่ไม่เคยทำงานมาก่อนส่วนหนึ่งเนื่องจากเป็นช่วงผู้จบการศึกษาใหม่เข้าสู่ตลาดแรงงาน และเมื่อจำแนกตามระดับการศึกษาพบว่า ประมาณ 47 %ของผู้ว่างงานที่ไม่เคยทำงานมาก่อนจบการศึกษาระดับอุดมศึกษาเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันปีที่แล้วถึง7.0%
รายได้ของแรงงาน พบว่า ค่าจ้างแรงงานและเงินเดือนภาคเอกชนที่ยังไม่รวมค่าล่วงเวลาและผลประโยชน์และผลตอบแทนอื่นเพิ่มขึ้น 1.3% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วโดยรายได้ของแรงงานภาคนอกเกษตรกรรมเพิ่มขึ้น 1.4% แต่รายได้ของแรงงานภาคเกษตรกรรมลดลง 2.7% ผลิตภาพแรงงานเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนขยายตัว 4.5% โดยเป็นภาคเกษตรขยายตัว 6.5% และนอกภาคเกษตรก็มีการขยายตัว 2.3% เป็นการขยายตัวในสาขาการผลิต การค้าส่ง การโรงแรมและภัตตาคารการขนส่ง เพิ่มขึ้น 3.8% 4.0% 8.4% 2.0% และ 3.4% ตามลำดับ
สำหรับประเด็นแรงงานที่ต้องติดตามและให้ความสำคัญในช่วงครึ่งหลังของปี ได้แก่ การจ้างงานและรายได้แรงงานภาคเกษตร ที่คาดว่าในช่วงครึ่งปีหลังการจ้างงานภาคเกษตรน่าจะมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นจากกิจกรรมการเพาะปลูกที่เข้าสู่ภาวะปกติ
การปรับตัวของการจ้างงานในสาขาอุตสาหกรรมจากการขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานในช่วงเดือน เม.ย.-พ.ค.59 พบว่าผู้ว่างงานที่เป็นผู้ประกันตนที่ขึ้นทะเบียนขอรับประโยชน์ทดแทนในกรณีถูกเลิกจ้างมีจำนวน 27,291 คน คิดเป็นสัดส่วน20% ของผู้ว่างงานที่เป็นผู้ประกันตนและขอรับประโยชน์ทั้งหมด โดยเพิ่มขึ้น 34.8% เทียบกันช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งแม้ว่าเศรษฐกิจขยายตัวในอัตราเร่ง แต่การผลิตเพื่อส่งออกของไทยยังลดลง และผู้ประกอบการที่ไม่สามารถรับภาระต้นทุนได้ต่อไป
เริ่มหันมาใช้วิธีปรับลดแรงงานหลังจากที่ได้พยายามปรับตัวโดยการบริหารจัดการต้นทุนในด้านอื่นๆ ในช่วงที่ผ่านมา อาทิ
การบังคับใช้อัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงาน ฉบับที่ 5 ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 10 ส.ค.59 เป็นต้นมา โดยกระทรวงแรงงานได้มีการกำหนดค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงานเพิ่มขึ้นอีกใน 20 สาขาอาชีพใน 5 อุตสาหกรรม จากเดิมที่มีการกำหนดอัตราค่าจ้างไว้แล้ว 35 สาขาอาชีพ และกระทรวงแรงงานมีแผนการกำหนดอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงานในอุตสาหกรรมอื่นๆ ต่อไปเพื่อเป็นแรงจูงใจให้แรงงานพัฒนาศักยภาพตนเองให้ได้รับค่าจ้างที่สูงขึ้นอย่างเป็นธรรมอันจะส่งผลดีต่อการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศที่มีแรงงานซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศที่มีศักยภาพที่สูงขึ้น โดยจะต้องมีการติดตามการบังคับใช้อัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงานอย่างเข้มงวดเพื่อประโยชน์และความเป็นธรรมของลูกจ้างตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541
ในส่วนหนี้สินครัวเรือน การผิดนัดชำระหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคชะลอตัวลงโดยมีมูลค่าเท่ากับ 98,200 ล้านบาทในไตรมาส 2/59 เพิ่มขึ้น 4.0% คิดเป็นสัดส่วน 26.3% ต่อ NPLs รวม และคิดเป็นสัดส่วน 2.6% ต่อสินเชื่อรวม โดยการผิดนัดชำระหนี้เกิน 3 เดือนขึ้นไปของสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับมีมูลค่า 10,527 ล้านบาท ลดลง 33.1% และคิดเป็นสัดส่วน 3.2% ของยอดสินเชื่อคงค้าง สำหรับการผิดนัดชำระหนี้เกิน 3 เดือนขึ้นไปของสินเชื่อบัตรเครดิตมีมูลค่า 9,885 ล้านบาท เพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอตัว 3.0% และคิดเป็นสัดส่วน 3.1% ของยอดสินเชื่อคงค้าง
ข่าวเด่น