นายวีรศักดิ์ ศุภประเสริฐ รองผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) แถลงดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนกรกฎาคม 2559 พบว่า อยู่ที่ 103.36 ขยายตัวลดลง 5.1 % จาก 108.91 ในเดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว โดยมีอัตราการใช้กำลังการผลิตของภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ 62.34 % จาก 66.43 % เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
สินค้าในอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม หดตัว ได้แก่ รถยนต์และเครื่องยนต์สำหรับรถยนต์ โดยการผลิตในเดือนก.ค.59 ปรับตัวลดลง 8.41% และ 12.61% ตามลำดับ โดยเป็นการลดลงของรถปิคอัพ
เสื้อผ้าสำเร็จรูป (ผ้าทอ) ปรับตัวลดลง 24.62% เนื่องจากการชะลอตัวจากตลาดส่งออกหลัก ได้แก่ ญี่ปุ่น ยุโรป ที่ยังไม่ฟื้นตัว จึงทำให้ผู้บริโภคสินค้าประเภทนี้ยังมีความ
ระมัดระวังมาก ผลิตภัณฑ์พลาสติก ปรับตัวลดลง 17.17% โดยเป็นการลดลงของสินค้าประเภทกระสอบพลาสติกและถุงพลาสติก ผลิตภัณฑ์ยางอื่นๆ ปรับตัวลดลง 12.05% โดยเป็นการลดลงของสินค้าประเภทผลิตภัณฑ์ยางแผ่น และยางแท่ง
อุตสาหกรรมที่ปรับตัวสวนกระแส โดยมีการผลิตอาหารสำเร็จรูปและเกษตรแปรรูป เช่น เนื้อไก่แช่แข็ง การแปรรุปผลไม้ ปรับตัวดีขึ้นทั้งในด้านราคาและปริมาณการผลิต ภายหลังภัยแล้งเริ่มคลี่คลาย นอกจากนี้ แรงส่งจากการลงทุนภาครัฐ การเดินหน้าโครงการบ้านประชารัฐที่ได้เริ่มขึ้น ธุรกิจที่อยู่อาศัยขยายตัวส่งผลให้คอนกรีต ซีเมนต์ และปูนปลาสเตอร์ มีการปรับตัวเพิ่มขึ้น 17.27%
ส่วนสินค้าที่ส่งผลให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ เครื่องปรับอากาศและชิ้นส่วน ที่ปรับเพิ่มขึ้น 45.05% โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของสินค้าประเภทคอนเดนซิ่งยูนิตและแฟนคอยล์ยูนิต เนื่องจากตลาดต่างประเทศโดยเฉพาะตลาดดอาเซียนมีความต้องการเพิ่มขึ้น
น้ำมันปิโตรเลียม ปรับเพิ่มขึ้น 9.23% โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของน้ำมันแก๊สโซฮอล 91 และ แก๊สโซออล 95 เนื่องจากในปีที่ผ่านมาโรงกลั่นหลายแห่งมีการส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปในปริมาณที่สูง
คอนกรีต ซีเมนต์ และปูนปลาสเตอร์ ปรับเพิ่มขึ้น 17.27% โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของผลิตภัณฑ์เสาเข็มคอนกรีต การเดินหน้าของโครงการประขารัฐที่ได้เริ่มขึ้นทำให้เม้ดเงินใช้จ่ายลงทุนของผู้บริโภคสูงขึ้น , แป้งมันสำปะหลัง เพิ่มขึ้น 33.51% เนื่องจากตลาดในและต่างประเทศมีความต้องการใช้แป้งมันสำปะหลังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง , เนื้อไก่แช่แข็ง เพิ่มขึ้น 5.80% เนื่องจากมีคำสั่งซื้อจากตลาดทั้งในและต่างประเทศเพิ่มมากขึ้นและมีแนวโน้มว่าจะมีอัตราการผลิตที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องอีกด้วย
อุตสาหกรรมสำคัญที่มีการคาดการณ์ว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นในไตรมาส 3/59 คือ อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิคส์ คาดว่าการผลิตจะปรับตัวเพิ่มขึ้น 7.88% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยอุตสาหกรรมไฟฟ้าคาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้น 16.87% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าที่จะปรับตัวเพิ่มขึ้น เช่น เครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วนเครื่องคอนเดนซิ่ง เครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วนแฟนคอยล์ยูนิต ตู้เย็น ตามลำดับ
รองผู้อำนวยการ สศอ. กล่าวว่า คาดว่าดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ปี 2559 น่าจะยังขยายตัวได้ 1-2% เนื่องจากเชื่อว่าแนวโน้ม MPI ในช่วง 5 เดือนที่เหลือของปียังดี โดยหาก MPI แต่ละเดือนอยู่ที่ 2-3% ทั้งปีน่าจะยังเป็นไปได้ตามเป้าหมาย
ข่าวเด่น