ตามที่ได้มีรายงานข่าวจากสื่อมวลชนว่าสำนักงานเศรษฐกิจการคลังได้ข้อสรุปจากการหารือร่วมกับภาคเอกชนถึงมาตรการภาษีเครื่องดื่มรสหวานแล้วว่าจะใช้เวลาสองปีในการดำเนินมาตรการที่ไม่ใช่ภาษี จากนั้นจึงจะเริ่มเก็บภาษีในเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลมากกว่า 10 กรัมต่อ 100 ซีซี นั้น สมาคมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทย ในฐานะตัวแทนของผู้ประกอบอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ที่เข้าร่วมหารือกับสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ได้ออกมาแสดงจุดยืนว่าสมาคมฯ เห็นด้วยในแนวคิดเรื่องการใช้มาตรการที่ไม่ใช่ภาษีก่อนมาตรการภาษี แต่ระยะเวลาสองปีนั้นน้อยเกินไปในแง่ของการดำเนินมาตรการให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม และเกรงว่าจะไม่สามารถชักชวนผู้ประกอบการเข้าร่วมความร่วมมือในส่วนนี้ได้มากพอ
นายวีระ อัครพุทธิพร อุปนายกและประธานกรรมการบริหาร สมาคมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทย กล่าวว่า “สมาคมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทยขอขอบพระคุณรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในการจัดตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างกระทรวงการคลังและตัวแทนภาคเอกชนขึ้นเพื่อรับฟังและพยายามหาแนวทางการดำเนินการที่เหมาะสมในเรื่องนี้ ซึ่งจากการดำเนินการที่ผ่านมาเห็นว่ามีแนวคิดที่ไปในทางเดียวกันแล้วว่าทุกส่วนควรจะต้องประสานความร่วมมือกันในการดำเนินการมาตรการที่มิใช่ภาษี ภายใต้แผนการดำเนินงานและตัวชี้วัดร่วมที่ชัดเจน เช่น การปรับสูตร การออกผลิตภัณฑ์ทางเลือกใหม่ๆ การปรับฉลากให้ง่ายต่อการเลือกซื้อของผู้บริโภค และการให้ความรู้เพื่อปรับพฤติกรรมผู้บริโภค เป็นต้น อย่างไรก็ตาม สมาคมฯ ยังมีความเห็นต่างในแง่ของระยะเวลาในการดำเนินการที่สมาคมฯ เห็นว่าสองปีนั้นไม่เพียงพอ และห้าปีเป็นระยะเวลาที่เหมาะสม”
นายวีระกล่าวต่อไปว่า “เหตุผลที่ผู้ประกอบการเสนอระยะเวลาห้าปี ก็เนื่องมาจากข้อเท็จจริงที่ว่าการดำเนินการตามมาตรการที่มิใช่ภาษีข้างต้นนั้น ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่ายทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคมซึ่งทุกฝ่ายควรจะได้มาประชุมหารือและจัดทำแผนการดำเนินการร่วมกัน พร้อมทั้งมีตัวชี้วัดที่ชัดเจนในการติดตามและประเมินผลความสำเร็จของทุกฝ่ายอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหากต้องการให้แผนครบถ้วนสมบูรณ์ ก็จะต้องใช้เวลาในการหารือและทำความตกลงร่วมกันพอสมควร ยังไม่นับรวมเวลาในการปฏิบัติตามแผนและวัดผล นอกจากนี้ ไม่ว่าจะเป็นการปรับสูตรผลิตภัณฑ์หรือการออกผลิตภัณฑ์ทางเลือกใหม่ๆ ก็ดี จำเป็นจะต้องใช้ทั้งเวลาและงบประมาณในการทำวิจัยและพัฒนาสูตรที่ผู้บริโภคสามารถรับได้ อีกทั้งยังต้องดำเนินการอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อมิให้ผู้บริโภครู้สึกได้ถึงความหวานที่ลดลงอย่างฉับพลัน และเพียงหันไปบริโภคเครื่องดื่มชงขายซึ่งหวานกว่า ไม่ต้องเสียภาษีสรรพสามิตและมีจำหน่ายทั่วไป ซึ่งจะไม่มีใครได้ประโยชน์ ทั้งผู้บริโภคและภาครัฐ และการปรับพฤติกรรมผู้บริโภคก็จะไม่ประสบความสำเร็จ”
นายวีระ กล่าวว่า “ตอนนี้ผู้ประกอบการเห็นพ้องต้องกันแล้วว่าภาคเอกชนต้องมีส่วนช่วยภาครัฐร่วมดำเนินการในเรื่องนี้ และพร้อมลงทุนทั้งทางด้านวิจัยและพัฒนา ตลอดจนการทำการตลาดและเพิ่มการกระจายสินค้าชองผลิตภัณฑ์ทางเลือกให้มากขึ้นด้วย แต่จากประสบการณ์การทำธุรกิจ การกำหนดระยะเวลาเพียงสองปีเพื่อวัดผลสัมฤทธิ์ของมาตรการเหล่านี้ถือว่าสั้นเกินไป และหากเป็นเช่นนั้น ผู้ประกอบการแต่ละรายก็คงไม่มีแรงจูงใจมากพอ เพราะลงทุนไปแล้วไม่ประสบความสำเร็จก็คงไปเรียกร้องค่าชดเชยจากใครไม่ได้ ซ้ำยังจะต้องมาเสียภาษีอีกในปีที่สาม ทางเลือกที่ดูจะเสี่ยงน้อยที่สุดคือการชะลอการลงทุนต่างๆ ไว้ก่อนและลดค่าใช้จ่ายในส่วนที่ทำได้เพื่อเตรียมรับมาตรการภาษี การประสานความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ในวงกว้างก็คงไม่เกิดขึ้น”
“นอกจากนี้ การเสนอระยะเวลาห้าปีนั้น สมาคมฯ มองว่าจะเป็นการจัดการผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยเฉพาะในส่วนของอุตสาหกรรมน้ำตาลและภาคการเกษตร และภาครัฐเองก็จะได้ประเมินผลจากการดำเนินมาตรการที่ไม่ใช่ภาษีว่าช่วยให้บรรลุเป้าหมายทางสุขภาพต่างๆ ที่ตั้งไว้ได้หรือไม่ และมาตรการภาษีมีความจำเป็นมากน้อยแค่ไหน ถ้าใช้จะต้องใช้อย่างไร เพราะสมาคมฯ เชื่ออย่างที่นักวิชาการหลายท่านก็เสนอว่าการใช้มาตรการภาษีที่จำกัดอยู่แต่เฉพาะผลิตภัณฑ์เพียงกลุ่มเดียวไม่น่าจะสามารถแก้ไขปัญหาน้ำหนักเกินและโรคอ้วนในภาพรวมได้ เพราะพลังงานส่วนเกินที่ทำให้อ้วนนั้นมาได้จากอาหารและเครื่องดื่มทุกชนิด แต่ผู้ประกอบการก็มองว่าเราควรร่วมกับภาครัฐในการแก้ปัญหานี้ในส่วนที่เราทำได้ จึงอยากขอให้ภาครัฐพิจารณาข้อเสนอของสมาคมฯ อีกครั้ง เพื่อสร้างมาตรฐานใหม่ในการร่วมมือกันระหว่างภาครัฐและเอกชนในการแก้ปัญหาสาธารณสุขของชาติ” นายวีระกล่าวสรุป
ข่าวเด่น