ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
PSTC ขยายพอร์ตโรงไฟฟ้าพลังงานทางเลือกสู่เป้าหมาย3 ปีผลิตไฟฟ้าเพิ่มเป็น 100 MW


 


PSTC ติดปีกขยายพอร์ตโรงไฟฟ้าพลังงานทางเลือกหลังผู้ถือหุ้นไฟเขียวอนุมัติการออกหุ้นกู้/ตั๋วแลกเงิน รับแผนลงทุนตั้งเป้า 3 ปี 100 MW ดันรายได้ทะลุ 1,200 ล้านบาท

PSTC ติดปีกรุกลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานทางเลือกสู่เป้าหมาย 3 ปี ผลิตไฟฟ้าเพิ่มเป็น 100 MW หลังผู้ถือหุ้นไฟเขียวแผนเสนอขายหุ้นกู้/ตั๋วแลกเงิน วงเงิน 1,500 ล้านบาท เพื่อขยายการลงทุนทั้งโรงไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์มสหกรณ์ โรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลและโรงไฟฟ้าจากไบโอแก๊ส มั่นใจปี 2561 มีรายได้จากการขายไฟฟ้าตามสัญญาทะลุ 1,200 ล้านบาท
 
 
นายพระนาย กังวาลรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เพาเวอร์ โซลูชั่น เทคโนโลยี หรือ PSTC ผู้ออกแบบ จำหน่ายและติดตั้งระบบจ่ายไฟฟ้าและตรวจวัดจัดการสภาพแวดล้อม รวมถึงผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานทางเลือกที่ครอบคลุมทั้งพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานชีวภาพ พลังงานชีวมวล พลังงานลม และพลังงานขยะ เปิดเผยว่า ที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2559 เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2559 ที่ผ่านมา ได้อนุมัติแผนการออกและเสนอขายหุ้นกู้/ตั๋วแลกเงินทั้งระยะสั้นและระยะยาว รวม 1,500 ล้านบาท โดยเสนอขายแบบเฉพาะเจาะจง (Private Placement : PP) และ/หรือ ผู้ลงทุนสถาบันรายใหญ่ และ/หรือผู้ลงทุนรายใหญ่ และ/หรือ นักลงทุนรายย่อย ซึ่งเมื่อรวมกับการอนุมัติของบอร์ดบริหารก่อนหน้านี้ ที่มีมติออกตั๋วแลกเงิน หรือ B/E เพิ่มอีกในวงเงิน 500 ล้านบาท ทำให้ PSTC ระดมทุนรวมกว่า 2,000 ล้านบาท เพื่อรุกขยายธุรกิจโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานทางเลือก ทั้งโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ โรงไฟฟ้าชีวมวลและโรงไฟฟ้าชีวภาพ

ทั้งนี้ PSTC มีแผนลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งภาคพื้นดินสำหรับหน่วยงานราชการและสหกรณ์การเกษตร จำนวน 2 โครงการ รวมเงินลงทุน 425 ล้านบาท แบ่งเป็นโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ กำลังการผลิต 5 MW ในพื้นที่สหกรณ์การเกษตรเมืองสระแก้ว จำกัด ในจังหวัดสระแก้ว วงเงินลงทุนจำนวน 212.50 ล้านบาท และโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ ในพื้นที่สหกรณ์ประมงแม่กลอง จำกัด ในจังหวัดสมุทรสงคราม กำลังการผลิต 5 MW วงเงินลงทุนอีก 212.50 ล้านบาท โดยทั้ง 2 โครงการจะเริ่มจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (SCOD) ได้ภายในสิ้นปีนี้
 
 
ขณะเดียวกัน บริษัทฯ ยังได้เข้าลงทุนซื้อหุ้นใน บริษัทโรงไฟฟ้าสระยายโสม จำกัด จากกลุ่มผู้ถือหุ้นเดิมร้อยละ 100ของทุนจดทะเบียน คิดเป็นเงินลงทุน 110 ล้านบาท ซึ่งมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจากพลังงานชีวภาพจากน้ำเสีย (Biogas) กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) จำนวน 4.6 MW ที่จังหวัดสุพรรณบุรี พร้อมดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้าจากพลังงานชีวภาพเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าขายให้แก่ กฟภ. ตามสัญญา ซึ่งจะต้องใช้เงินลงทุนอีก 277 ล้านบาท ส่งผลให้โครงการดังกล่าวมีมูลค่าการลงทุนทั้งสิ้น 387 ล้านบาท คาดว่าจะเริ่มขายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (SCOD) ได้ภายในเดือนมิถุนายน 2560
 
 
นอกจากนี้ ที่ผ่านมาบริษัทฯ ยังได้เข้าลงทุนเพิ่มเติมในบริษัท เวลล์ โคราช เอ็นเนอร์ยี จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานชีวมวล (Biomass) ขนาดกำลังการผลิต 8 เมกะวัตต์ ที่จังหวัดบุรีรัมย์ จากกลุ่มผู้ถือหุ้นเดิมจำนวน 12,600,000 หุ้นหรือคิดเป็นร้อยละ 45 ของทุนจดทะเบียน เป็นเงินลงทุนจำนวน 85 ล้านบาท ซึ่งการลงทุนครั้งนี้ ส่งผลให้บริษัทฯ มีสัดส่วนการลงทุนใน เวลล์ โคราช เอ็นเนอร์ยี เพิ่มเป็นร้อยละ 100 จากเดิมที่มีสัดส่วนถือหุ้นร้อยละ 55
ทั้งนี้ โครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลแห่งนี้ได้ใช้เปลือกไม้ เศษไม้และพืชพลังงาน เป็นวัตถุดิบผลิตกระแสไฟฟ้าตามสัญญาซื้อขายไฟกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ซึ่งได้ดำเนินการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์เข้าสู่ระบบ (COD) เป็นที่เรียบร้อยแล้วตั้งแต่วันที่ 24 กรกฎาคม 2558 ที่ผ่านมา และปัจจุบันบริษัทฯ อยู่ระหว่างดำเนินการขอเปลี่ยนการขายไฟฟ้าจากรูปแบบ Adder ไปเป็น Feed-in Tariff (FiT) ที่กำหนดอัตราขายไฟฟ้าอยู่ที่ 4.54 บาทต่อหน่วย และโครงการนี้ยังได้รับการส่งเสริมจาก BOI อีกด้วย
 
“เราขอขอบคุณผู้ถือหุ้นทุกท่านที่เชื่อมั่นในศักยภาพการดำเนินงานของบริษัทฯ จึงเห็นชอบแผนระดมทุนในครั้งนี้ เพื่อขยายการลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานทางเลือกและช่วยผลักดันเป้าหมายของบริษัทฯ ภายใน 3 ปีหรือภายในปี 2561 จะมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าเพิ่มเป็น 100 MW จากปัจจุบันที่มีอยู่ 45.3 MW และทำรายได้จากการขายไฟฟ้ามากกว่า 1,200 ล้านบาท ขณะที่ขนาดของสินทรัพย์ก็เติบโตขึ้นเช่นกัน โดย ณ สิ้นปี 2559 จะมีสินทรัพย์รวมประมาณ 3,000 ล้านบาท และเพิ่มเป็น 5,000 ล้านบาทภายในปี 2560” นายพระนาย กล่าว  
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 31 ส.ค. 2559 เวลา : 11:30:34

22-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 22, 2024, 2:33 am