เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2559 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบการปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สาธารณะ (แผนฯ) ประจำปีงบประมาณ 2559 ครั้งที่ 3 ที่มีวงเงินปรับลดสุทธิ 127,713.91 ล้านบาท จากเดิม 1,673,313.95 ล้านบาท เป็น 1,545,600.04 ล้านบาท โดยการก่อหนี้ใหม่เพิ่มขึ้นสุทธิ 36,075.42 ล้านบาท และการบริหารหนี้เดิม (การปรับโครงสร้างหนี้ และการบริหารความเสี่ยง) ลดลงสุทธิ 163,789.33 ล้านบาท ดังนี้
การปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2559 ครั้งที่ 3 มีรายละเอียดดังนี้
1. การก่อหนี้ใหม่ เพิ่มขึ้นสุทธิ 36,075.42 ล้านบาท :
1.1 กระทรวงการคลัง ปรับเพิ่มสุทธิ 36,698.68 ล้านบาท เนื่องจาก
1) ปรับลดวงเงินกู้โครงการเงินกู้เพื่อพัฒนาระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและระบบขนส่งทางถนน ระยะเร่งด่วน : มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 2 จำนวน 6,700 ล้านบาท เนื่องจากมีเงินยืมกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เพื่อประโยชน์สาธารณะของ กสทช. คงเหลือเพียงพอสำหรับการเบิกจ่ายของหน่วยงาน ในไตรมาสที่ 4 ของปีงบประมาณ 2559
2) ปรับเพิ่มวงเงินให้กู้ต่อ (กู้ในประเทศ) รฟม. 1,236 ล้านบาท เพื่อดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงแบริ่ง – สมุทรปราการ (ค่าก่อสร้างงานโยธาและค่าจ้างที่ปรึกษางานโยธา) เนื่องจากการดำเนินโครงการฯ ใกล้แล้วเสร็จตามสัญญาจ้างในปีงบประมาณ 2560 จึงมีการเร่งการดำเนินงานในส่วนงานโยธาให้ทันกับแผนงานสัญญาที่ 3 งานระบบเดินรถไฟฟ้า ที่มีกำหนดการเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีเขียว (ส่วนต่อขยาย) ช่วงสถานีแบริ่ง – สถานีสำโรง ประมาณกลางปี 2560
3) ปรับเพิ่มวงเงินให้กู้ต่อ (กู้ต่างประเทศ) 42,162.68 ล้านบาท เนื่องจากกระทรวงการคลังจะ กู้เงินเพื่อให้ รฟท. ใช้สำหรับโครงการระบบขนส่งมวลชนทางรางในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ – รังสิต 166,860 ล้านเยน หรือเทียบเท่า 53,478.63 ล้านบาท โดยคาดว่าจะสามารถลงนามสัญญาเงินกู้กับ JICA ภายในเดือนกันยายน 2559
1.2 รฟท. ปรับลดสุทธิ 670.79 ล้านบาท จากการปรับลดเงินกู้โครงการจัดหารถจักรดีเซลไฟฟ้า จำนวน 20 คัน (20 ตัน/เพลา) และโครงการจัดหารถโดยสารรุ่นใหม่สำหรับบริการเชิงพาณิชย์ จำนวน 115 คัน วงเงิน 222.73 และ 790.82 ล้านบาท ตามลำดับ เนื่องจากเลื่อนกำหนดการรับมอบรถออกไปจากแผนเดิม และการปรับเพิ่มเงินกู้โครงการจัดหารถโบกี้บรรทุกตู้สินค้า จำนวน 308 คัน วงเงิน 342.76 ล้านบาท เนื่องจากปรับแผนการรับมอบรถจากเดิมเป็นเดือนกรกฎาคม 2559
1.3 บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ปรับลดวงเงินกู้เพื่อดำเนินกิจการทั่วไป 15,000 ล้านบาท เนื่องจากมีสภาพคล่องเพียงพอ
1.4 กองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย ปรับเพิ่มวงเงินกู้ 15,047.53 ล้านบาท เพื่อการให้ความช่วยเหลือ และแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของชาวไร่อ้อยในฤดูการผลิต ปี 2558/2559 ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2559
2. การบริหารหนี้เดิม (การปรับโครงสร้างหนี้และการบริหารความเสี่ยง) ลดลงสุทธิ 163,789.33 ล้านบาท :
2.1 กระทรวงการคลัง ปรับลดวงเงิน 172,033.33 ล้านบาท เนื่องจาก
1) ปรับลดวงเงินปรับโครงสร้างหนี้เงินกู้เพื่อชดใช้ความเสียหายให้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) 162,000 ล้านบาท ซึ่งเดิมมีแผนจะทำ Prefunding ในปีงบประมาณ 2559 ไปเป็นปีงบประมาณ 2560 เนื่องจากการลดระยะเวลาการทำ Prefunding จะทำให้ลดภาระดอกเบี้ยในการกู้เงินล่วงหน้าลงได้และสามารถนำเงินไปชำระคืนเงินต้นได้เพิ่มขึ้น
2) ปรับลดรายการตั๋วสัญญาใช้เงิน (P/N) จำนวน 3 รายการ วงเงินรวม 10,033.33 ล้านบาท ที่เดิมมีแผนจะบริหาร ความเสี่ยงในปีงบประมาณ 2559 แต่ปัจจุบันความต้องการลงทุนในพันธบัตรมีไม่เพียงพอที่จะรองรับปริมาณพันธบัตรที่จะออกเพื่อปรับโครงสร้างหนี้และบริหารความเสี่ยงได้ทั้งหมด
2.2 บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ปรับเพิ่มวงเงินการบริหารความเสี่ยงหนี้ในประเทศ โดยการทำ Cross Currency Swap (CCS) จำนวน 3 รายการ วงเงินรวม 8,244 ล้านบาท
จากการดำเนินการตามแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2559 ปรับปรุงครั้งที่ 3 ดังกล่าวกระทรวงการคลังได้คาดการณ์ระดับหนี้สาธารณะต่อ GDP และภาระหนี้ต่องบประมาณ พบว่า ยังคงอยู่ในกรอบความยั่งยืนทางการคลังที่กำหนดให้ไม่เกินร้อยละ 60 และไม่เกินร้อยละ 15 ตามลำดับ โดยระดับหนี้สาธารณะต่อ GDP และภาระหนี้ต่องบประมาณ ณ สิ้นปี 2559 - 2563 เปรียบเทียบระหว่างแผนเดิมและแผนฯ ปรับปรุงครั้งที่ 3 เป็นดังนี้
นอกจากนี้ กระทรวงการคลังคาดว่าการปรับแผนฯ ในครั้งนี้ จะทำให้การดำเนินโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง ที่อยู่ในแผนฯ สามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่องและสอดคล้องตามความก้าวหน้าของโครงการ รวมทั้งมีวงเงินสำหรับการให้ความช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของชาวไร่อ้อยในฤดูการผลิต ปี 2558/2559 โดยที่ระดับหนี้สาธารณะยังอยู่ภายใต้กรอบที่กำหนด
ข่าวเด่น