ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ธปท.ชี้ศก.ไทยก.ค.ขยายตัวชะลอลงจากมิ.ย.เหตุการใช้จ่ายภาครัฐแผ่ว


 


ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)  แถลงข่าวเศรษฐกิจและการเงินเดือนกรกฎาคมปี 2559 เศรษฐกิจไทยในเดือนกรกฎาคม 2559 ขยายตัวต่อเนื่องแต่ในอัตราที่ชะลอลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อน เนื่องจากการใช้จ่ายภาครัฐแผ่วลงบ้างหลังได้เร่งเบิกจ่ายไปแล้ว และปัจจัยชั่วคราวที่ช่วยกระตุ้น การบริโภคภาคเอกชนลดลง สำหรับการส่งออกสินค้ายังคงซบเซาตามภาวะเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่ฟื้นตัวช้า ส่งผลให้การลงทุนภาคเอกชนยังอยู่ในระดับต่ำ อย่างไรก็ดี ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวสูง ส่วนหนึ่งเพราะพ้นช่วงเทศกาลถือศีลอด
 
 
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปชะลอลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนตามราคาอาหารสดที่ปรับลดลงเนื่องจากปัญหาภัยแล้งคลี่คลาย อัตราการว่างงานอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง ขณะที่ดุลบัญชีเดินสะพัดยังคงเกินดุลสูงจากรายรับภาคการท่องเที่ยวที่ดีและมูลค่าการนำเข้าที่อยู่ในระดับต่ำ

ภาวะเศรษฐกิจไทย   การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงจากเดือนก่อนหลังปัจจัยชั่วคราวที่สนับสนุน การใช้จ่ายในช่วงก่อนหน้าลดลง ทั้งการจัดรายการส่งเสริมการขายสินค้าอุปโภคบริโภค และการเปิดตัวรถยนต์ รุ่นใหม่ ขณะที่รายได้ภาคเกษตรกรรมทยอยปรับดีขึ้นแต่ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการฟื้นตัวจากภัยแล้ง และรายได้นอกภาคเกษตรกรรมค่อนข้างทรงตัว อย่างไรก็ดี การใช้จ่ายในหมวดบริการขยายตัวดีต่อเนื่อง

การใช้จ่ายภาครัฐแผ่วลงหลังได้เร่งเบิกจ่ายไปมากในช่วงก่อนหน้า ทั้งรายจ่ายประจาและรายจ่ายลงทุน ส่วนหนึ่งเพราะมาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบลและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 2 อยู่ในช่วงปลายของการดำเนินงานจึงมีเม็ดเงินเหลืออยู่ไม่มาก ด้านรายได้ของรัฐขยายตัวสูงตามการนำส่งรายได้จากการประมูลใบอนุญาตคลื่นความถี่ 4G และการนำส่งรายได้ค่าใบอนุญาตโทรทัศน์ดิจิทัล ขณะที่รายได้ภาษีฐานการบริโภคขยายตัวแต่ในอัตราที่ชะลอลงจากเดือนก่อน สอดคล้องกับทิศทางของเครื่องชี้ การบริโภคภาคเอกชน

มูลค่าการส่งออกสินค้าหดตัวร้อยละ 4.5 จากระยะเดียวกันปีก่อน ซึ่งหากไม่รวมการส่งออกทองคำ มูลค่าการส่งออกหดตัวร้อยละ 8.4 จากการหดตัวในหลายหมวดสินค้า ตามปริมาณการส่งออกที่ถูกหน่วงด้วยการฟื้นตัวที่ล่าช้าของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญ และราคาส่งออกที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่าระยะเดียวกันปีก่อน โดยเฉพาะในหมวดผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับปิโตรเลียม อย่างไรก็ดี มูลค่าการส่งออกสินค้า บางชนิดขยายตัวดี อาทิ สินค้าประมงเนื่องจากผู้ผลิตในต่างประเทศประสบปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบจาก โรคระบาดในกุ้ง ขณะที่อุปทานของไทยมีทิศทางปรับดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ การส่งออกแผงวงจรรวมและแผงกาเนิดไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ไปยังตลาดสหรัฐฯ ขยายตัวดีต่อเนื่อง สอดคล้องกับทิศทาง การผลิตภาคอุตสาหกรรมของสหรัฐฯ ที่ดี

ภาวะการส่งออกสินค้าที่ยังซบเซา ขณะที่อุปสงค์ในประเทศยังฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ส่งผลให้ 1) ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนจากหลายหมวดสินค้า โดยเฉพาะรถยนต์ และผลิตภัณฑ์ยางที่หดตัวเนื่องจากผู้ประกอบการคาดว่าความต้องการจากอุตสาหกรรมยางรถยนต์ของจีนอาจลดลงในระยะข้างหน้าเพราะได้รับผลกระทบจากมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดของสหรัฐฯ และ 2) การลงทุนภาคเอกชนยังอยู่ในระดับต่ำ  แม้มีการลงทุนในภาคบริการ อาทิ ธุรกิจผลิตไฟฟ้า และหมวดอุปกรณ์สื่อสารสะท้อนภาวะการลงทุนโดยรวมที่ฟื้นตัวเฉพาะจุด

สำหรับมูลค่าการนำเข้าสินค้าหดตัวร้อยละ 8.6 จากระยะเดียวกันปีก่อน เนื่องจากการนำเข้าหมวดสินค้าขั้นกลางและวัตถุดิบที่หดตัวเป็นสำคัญ สอดคล้องกับการส่งออกสินค้าที่ซบเซาและราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ยังต่ำกว่าระยะเดียวกันปีก่อน อย่างไรก็ดี การนำเข้าสินค้าทุนในเดือนนี้ปรับดีขึ้นจากปัจจัยพิเศษตามการนำเข้าเครื่องบินและแท่นขุดเจาะเป็นหลัก

ภาคการท่องเที่ยวยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติขยายตัวร้อยละ 10.8 จากระยะเดียวกันปีก่อน โดยเป็นการขยายตัวดีในทุกกลุ่ม และเมื่อปรับฤดูกาลแล้วจำนวนนักท่องเที่ยวปรับดีขึ้นจากเดือนก่อน ตามการกลับมาเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวชาวมาเลเซีย อินโดนีเซีย และตะวันออกกลางหลังหมดช่วงเทศกาลถือศีลอด ประกอบกับนักท่องเที่ยวชาวจีนและยุโรปที่ไม่รวมรัสเซีย ยังขยายตัวต่อเนื่อง โดยภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวดีช่วยสนับสนุนให้ภาคบริการที่เกี่ยวข้องเติบโตต่อเนื่อง
เช่นกัน

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปชะลอลงเล็กน้อยจากเดือนก่อน ตามราคาอาหารสดที่ปรับลดลงเมื่อปัญหาภัยแล้งคลี่คลาย อัตราการว่างงานอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง โดยแรงงานนอกภาคเกษตรกรรมบางส่วนย้ายกลับเข้าสู่ภาคเกษตรกรรมหลังปริมาณน้ำฝนเพิ่มขึ้นและมีมากเพียงพอสำหรับฤดูกาลเพาะปลูกนี้ ส่วนดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 3.3 พันล้านดอลลาร์ สรอ. จากรายได้ภาคการท่องเที่ยวที่ดี และมูลค่าการนำเข้าที่ยังอยู่ในระดับต่ำ ขณะที่ดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้ายขาดดุลสุทธิตามการชำระคืนเงินกู้ระยะสั้นของภาคสถาบันรับฝากเงิน การออกไปลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศของกองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ(FIF) และการออกไปลงทุนโดยตรงในต่างประเทศของภาคธุรกิจไทยอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี เงินทุนจากต่างประเทศยังคงไหลเข้ามาลงทุนในหลักทรัพย์ไทย เพราะนักลงทุนคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ จะเลื่อนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายออกไป


 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 31 ส.ค. 2559 เวลา : 14:58:55

24-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 24, 2024, 5:09 pm