กรมสนับสนุนบริการสุขภาพนำทีมเจ้าหน้าที่กองกฎหมาย และเจ้าหน้าที่ตำรวจ ปคบ. บุกจับช่างทำฟันปลอมเถื่อน 2 ร้านรวด “ปูทำฟัน” และ “พีพี เด็นทัล แลป” บนห้างสรรพสินค้าชื่อดังย่านงามวงศ์วาน ร้านแรกทำมานานกว่า 10 ปี ร้านที่สองทำมา 2 เดือน แต่จดทะเบียนพาณิชย์ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 ลงโทษร้านละ 2 กระทง จำคุกรวม 6 ปี ปรับไม่เกิน 90,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ย้ำการใส่ฟันปลอมที่ไม่ได้มาตรฐานมีอันตรายเป็นมะเร็งได้ ขอให้ประชาชนช่วยกันแจ้งเบาะแส
บ่ายวันนี้ (31 สิงหาคม 2559 ) นายแพทย์ภัทรพล จึงสมเจตไพศาล ผู้ช่วยอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข นำทีมเจ้าหน้าที่กฎหมาย พร้อมด้วยพันตำรวจโทอภิชัย ไลออน รองผู้กำกับการ 4 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) บุกจับร้านทำฟันปลอมเถื่อน 2 ร้าน ซึ่งตั้งอยู่ ชั้น 6 ห้างสรรพสินค้าชื่อดังย่านงามวงศ์วาน หลังจากได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนทางเฟซบุ๊คมือปราบสถานพยาบาลเถื่อน
นายแพทย์ภัทรพล กล่าวว่า นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ได้มอบหมายให้ทีมกฎหมายร่วมกับ บก.ปคบ. ตรวจสอบร้านทันตกรรมเถื่อน บนห้างสรรพสินค้าชื่อดังย่านงามวงศ์งาน ซึ่งในวันนี้ได้เข้าจับกุม 2 ร้าน คือ ปูทำฟัน และพีพี เด็นทัล แลป โดยจากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่า ทั้ง 2 แห่งมีการเปิดสถานพยาบาล หรือคลินิกทำฟันปลอมโดยไม่ได้รับอนุญาต และประกอบวิชาชีพทันตกรรมโดยไม่ได้รับอนุญาต
ทั้งนี้ ร้านปูทำฟัน มีนางสาวนิภาพร พาหา อายุ 41 ปี เป็นเจ้าของสถานที่และผู้ให้บริการทำฟันปลอม โดยทำมากว่า 10 ปี และอ้างว่าเคยปฏิบัติงานในห้องแล็ปมาก่อน โดยมีการทำฟันปลอมหลายชนิด ทั้งแบบโลหะ และพลาสติก สนนราคาอยู่ที่ 300 – 2,500 บาท ใช้เวลาทำ 5-7 วัน นางสาวนิภาพรให้ข้อมูลว่ามีผู้เข้ารับบริการทำฟันปลอมวันละ 5-7 คน ส่วนร้านพีพี เด็นทัล แลป มีนายพีรพงษ์ พุทธะศิริ เป็นเจ้าของสถานที่ และจดทะเบียนพาณิชย์เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2548 และมีนางสาวอารดา นันทจันทร์ อายุ 30 ปี จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาปีที่ 3 เป็นผู้ให้บริการ ทำมาแล้วประมาณ 2 เดือน โดยให้บริการทำฟันปลอมทั้งชนิดโลหะ พลาสติก และฟันครอบแบบเซรามิก รวมทั้งให้บริการซ่อมแซมฟันปลอม เปิดให้บริการ 10.00 – 20.00 น.
นายแพทย์ภัทรพล กล่าวต่อว่า ได้แจ้งข้อหาเบื้องต้นทั้ง 2 ร้าน แห่งละ 2 กระทง คือ 1.ประกอบกิจการและดำเนินการสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับอนุญาต มีความผิดตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ. 2541 มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และ 2.ประกอบวิชาชีพทันตกรรม โดยไม่ขึ้นทะเบียนและรับอนุญาตตามพระราชบัญญัติวิชาชีพทันตกรรม พ.ศ. 2537 มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ในการทำฟันปลอมจะต้องทำกับทันตแพทย์ ที่มีใบประกอบวิชาชีพทันตกรรม และทำในสถานพยาบาลที่ได้มาตรฐานเท่านั้น
“การทำฟันปลอมโดยที่ไม่ใช่ผู้ประกอบวิชาชีพจะมีความเสี่ยงในเรื่องของการบดเคี้ยว ฟันไม่สบกัน ทำให้เกิดเป็นแผล เกิดการติดเชื้อ เข้าสู่กระแสเลือดและสมอง หรือเนื้อเยื่อที่ตายอาจกลายเป็นมะเร็ง รวมทั้งเกิดกลิ่นปาก การเปิดสถานพยาบาลหรือคลินิกจะต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ. 2541 โดยเปิดเป็นคลินิกทันตกรรม และผู้ขอนุญาตดำเนินการต้องเป็นทันตแพทย์ ที่มีใบประกอบวิชาชีพถูกต้องตามกฎหมาย หากประชาชนพบร้านทำฟันปลอมเถื่อนขอให้แจ้งที่ สายด่วน สบส. 02 193 7999 หรือที่เฟซบุ๊คมือปราบสถานพยาบาลเถื่อน และสารวัตรสถานพยาบาลออนไลน์” นายแพทย์ภัทรพล กล่าว
ทางด้านพันตำรวจโทอภิชัย ไลออน รองผู้กำกับการ 4 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค กล่าวว่า การทำฟันควรทำในสถานที่ๆเป็นคลินิก ที่ขออนุญาตถูกต้องตาม พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ. 2541 ผู้ที่ทำต้องเป็นทันตแพทย์ การทำฟันปลอมตามร้านเหล่านี้ถือว่าเป็นการทำกับหมอเถื่อน คลินิกเถื่อน มีอันตรายมาก อาจเกิดการติดเชื้อได้
ข่าวเด่น