กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ขอให้ประชาชนป้องกันตัวเองไม่ให้ยุงกัด หากสถานพยาบาลพบผู้ป่วยสงสัยสามารถส่งตัวอย่างมาตรวจได้ทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง โดยมีระบบการเฝ้าระวังโรคติดเชื้อไข้ซิกาทางห้องปฏิบัติการและให้บริการตรวจทั้ง 2 วิธี คือการตรวจสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัสซิกา ในเลือด ปัสสาวะและน้ำลาย รู้ผลภายใน 8 ชั่วโมง และการตรวจแอนติบอดีชนิด IgM และ IgG วิธี ELISA สำหรับตรวจทารกแรกเกิดศีรษะเล็ก ส่วนต่างจังหวัดส่งตัวอย่างตรวจที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ทั้ง 14 แห่งที่ตั้งกระจายอยู่ตามภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ พร้อมแนะป้องกันตนเองไม่ให้ยุงกัดและหลีกเลี่ยงเดินทางไปพื้นที่ที่มีการระบาด
นพ.อภิชัย มงคล อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ตามที่ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหภาพยุโรปได้เผยแพร่ข้อมูลในเว็บไซต์เมื่อวันวันที่ 19 สิงหาคม 2559 โดยระบุว่าสถานการณ์ของโรคติดเชื้อไวรัสซิกาของประเทศไทยอยู่ในระดับสีแดง คือ มีการแพร่กระจายของโรคอย่างกว้างขวางในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา นั้น ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มีความห่วงใยถึงสถานการณ์ข่าวการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสซิกา ล่าสุดเพื่อนบ้านเราอย่างประเทศสิงคโปร์มีรายงานการตรวจพบผู้ติดเชื้อแล้ว 56 ราย สำหรับประเทศไทยยังไม่มีการระบาด ขอประชาชนอย่าตื่นตระหนก กระทรวงสาธารณสุขได้มีมาตรการเฝ้าระวังป้องกันและควบคุมโรคนี้อย่างต่อเนื่อง 4 ด้าน ได้แก่ 1.การเฝ้าระวังทางระบาดวิทยา 2.การเฝ้าระวังทางกีฏวิทยา 3.การเฝ้าระวังทารกแรกเกิดที่มีความพิการแต่กำเนิด และ4.การเฝ้าระวังกลุ่มอาการทางระบบประสาท รวมทั้งมีการเตรียมความพร้อมทางห้องปฏิบัติการ และความพร้อมด้านการดูแลรักษา ตลอดจนการควบคุมแมลงพาหะนำโรค คือ ยุงลาย ซึ่งเป็นชนิดเดียวกันกับพาหะนำโรคไข้เลือดออก ไข้ปวดข้อยุงลาย ไข้เหลือง และเนื่องจากประเทศเราอยู่ในเขตร้อน จึงเหมาะสมต่อการขยายพันธุ์ของยุงพาหะและเชื้อไวรัส ประชาชนควรทายาป้องกันยุงกัดตลอดเวลาที่ออกนอกอาคาร หรือเข้าไปในสวนยาง สวนปาล์ม สวนผลไม้
ภารกิจหนึ่งของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ คือ เป็นห้องปฏิบัติการยืนยันผลตรวจวิเคราะห์ทางไวรัสวิทยาและกีฏวิทยา ซึ่งการตรวจวินิจฉัยโรคติดเชื้อไวรัสซิกาใช้การตรวจสารพันธุกรรมไวรัสซิกา ในช่วง 5 วันหลังเริ่มป่วย ตรวจพบเชื้อไวรัสซิกาได้ในสารคัดหลั่งต่างๆ ได้แก่ ซีรัม น้ำลาย ปัสสาวะ น้ำอสุจิ น้ำไขสันหลัง และน้ำคร่ำ หลังจากนั้นมีโอกาสพบเชื้อไวรัสซิกาในตัวอย่างปัสสาวะและน้ำอสุจิได้นานถึง 20 วันและ 188 วัน ตามลำดับ ตัวอย่างน้ำลายเหมาะสมสำหรับผู้ป่วยที่ไม่สามารถเจาะเลือดได้ อย่างไรก็ตามตัวอย่างที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการตรวจสารพันธุกรรม คือ ซีรัมและปัสสาวะ ซึ่งเก็บจากผู้ป่วยภายใน 14 วันหลังเริ่มป่วย สำหรับการตรวจแอนติบอดีชนิด IgM และ IgG ต่อไวรัสซิกา มักพบผลบวกปลอมสูง จากการเกิดปฏิกิริยาข้ามกับฟลาวิไวรัสอื่น เช่น ไวรัสเดงกี และไวรัสเจอี ซึ่งสรุปได้ยากในผู้ที่เคยได้รับเชื้อไวรัสเดงกี ไวรัสเจอี หรือได้รับวัคซีนมาก่อน จึงใช้ตรวจเฉพาะทารกแรกเกิดศีรษะเล็กและมารดา
นพ.อภิชัย กล่าวต่ออีกว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ให้บริการตรวจวินิจฉัยโรติดเชื้อไวรัสซิกา 2 วิธี คือ 1.การตรวจสารพันธุกรรมไวรัสซิกา ในตัวอย่างเลือด ปัสสาวะ และน้ำลาย ด้วยวิธี Real-time RT-PCR สามารถรู้ผลได้ภายใน 8 ชั่วโมง 2.การตรวจแอนติบอดีชนิด IgM และ IgG ต่อไวรัสซิกา ในตัวอย่างซีรัม ด้วยวิธี ELISA หากพบผู้ป่วยสงสัยติดเชื้อไวรัสซิกา สถานพยาบาลทุกระดับสามารถส่งตัวอย่าง มาที่สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเปิดรับตัวอย่างทุกวัน ตลอด 24 ชั่วโมง ในพื้นที่ต่างจังหวัดสามารถส่งตัวอย่างตรวจได้ที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ทั้ง 14 แห่ง ที่ตั้งกระจายอยู่ตามภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ
อย่างไรก็ตามวิธีป้องกันโรคติดเชื้อไข้ซิกาที่ดีที่สุดคือประชาชนต้องป้องกันตัวเองไม่ให้ยุงกัด และกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ทั้งในและนอกบ้าน โดยใช้กับดักลีโอแทรป และป้องกันตนเองไม่ให้ยุงกัด โดยสวมเสื้อผ้าให้มิดชิด ทายาป้องกันยุงกัด นอนกางมุ้ง และหลีกเลี่ยงเดินทางไปพื้นที่ที่มีการระบาดของโรค ทั้งนี้หากเดินทางกลับมาจากพื้นที่ที่มีการระบาด แล้วมีอาการออกผื่น มีไข้ ตาแดง ปวดข้อปวดศีรษะ โดยอาการจะปรากฏหลังผู้ป่วยได้รับเชื้อภายใน 3-12 วัน ให้รีบไปพบแพทย์ทันทีและแจ้งประวัติการเดินทางให้แพทย์ทราบด้วย เนื่องจากมีรายงานจากประเทศอิตาลีว่าเชื้อไวรัสซิกาสามารถอยู่ในน้ำอสุจิได้นานถึง 6 เดือน
ข่าวเด่น