พาณิชย์เตือนผู้ส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ให้ความใส่ใจปฏิบัติตามมาตรฐานสากลด้านแรงงานหลังตลาดออสซี่ติงสินค้าที่ไม่แสดงหลักฐานที่มาของวัตถุดิบการผลิต
นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ผู้ประกอบการไทยควรให้ความสำคัญเกี่ยวกับการปฏิบัติให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลด้านแรงงานและจริยธรรมทางธุรกิจให้มากขึ้น ซึ่งครอบคุลมถึงประเด็นกระบวนการผลิตและการใช้วัตถุดิบที่ไม่มีการเอารัดเอาเปรียบแรงงาน เนื่องจากขณะนี้ ออสเตรเลียเริ่มหันมานำเข้าสินค้าจากบริษัทที่ได้รับการรับรองจากหน่วยงานองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labor Organization : ILO) หรือองค์กรที่รับรองด้านการปฏิบัติด้านจริยธรรมทางธุรกิจ (Ethical Business Practice) ที่ได้รับการยอมรับตามมาตรฐานสากลเพิ่มมากขึ้น เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค
รายงานของสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลียระบุว่า ผลการสำรวจขององค์การความร่วมมือ Baptist World Aid (BWA) เกี่ยวกับนโยบายและระเบียบการ ใช้แรงงานเด็กและการเอารัดเอาเปรียบลูกจ้างของบริษัทผู้จำหน่ายสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ในออสเตรเลียพบว่า ปัจจุบันชาวออสเตรเลียตระหนักถึงปัญหาการใช้แรงงานทาสเพิ่มมากขึ้น ทำให้ผู้นำเข้าเริ่มหันมานำเข้าสินค้าจากบริษัทที่ได้รับการรับรองจากหน่วยงานองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labor Organization : ILO) หรือองค์กรที่รับรองด้านการปฏิบัติด้านจริยธรรมทางธุรกิจ (Ethical Business Practice) ที่ได้รับการยอมรับตามมาตรฐานสากล เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคว่าไม่มี การสนับสนุนให้ผู้ผลิตมีการเอารัดเอาเปรียบแรงงาน อย่างไรก็ดี จากการสำรวจพบว่า มีหลายบริษัทไม่ให้ความร่วมมือและปฏิเสธการให้ข้อมูลรายละเอียดในประเด็นนี้ เนื่องจากบริษัทผู้จำหน่ายสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ในออสเตรเลียส่วนใหญ่ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่า วัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตสินค้าของตนไม่ได้มาจากการใช้แรงงานทาสหรือการเอารัดเอาเปรียบอย่างไม่เป็นธรรม จากการสำรวจผู้จำหน่ายสินค้าอิเล็กทรอนิกส์กว่า 50 บริษัทของ BWA พบว่า ไม่มีบริษัทใดสามารถแสดงหลักฐานที่มาของแหล่งวัตถุดิบได้ โดยในจำนวนนี้ร้อยละ 11 แสดงกระบวนการผลิตสินค้าของบริษัทไม่ครบทุกขั้นตอน และร้อยละ 57 สามารถแสดงหลักฐานได้เพียงกระบวนการผลิตขั้นตอนสุดท้ายเท่านั้น ทั้งนี้ ในปี 2558 บริษัทที่ให้ความร่วมมือและสนับสนุนการต่อต้าน การใช้แรงงานทาสอย่างผิดกฎหมาย เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 54 เป็นร้อยละ 61 เมื่อเทียบกับปี 2557 ซึ่งประกอบด้วย บริษัท Apple, Dell Electrolux, Microsoft, Panasonic, Dick Smith ASUS เป็นต้น
ประเทศไทยส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ไปยังตลาดโลก ในช่วงครึ่งปีแรก (มกราคม - มิถุนายน) ของปี 2559 มีมูลค่า 15,152 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือลดลงร้อยละ 4.2 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 14.4 ของการส่งออกสินค้าทั้งหมด ขณะที่ปี 2558 ไทยส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์มูลค่า 32,591 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือลดลงร้อยละ 1.2
ข่าวเด่น