ไทย-ปากีสถาน เดินหน้าเจรจา FTA รอบที่ 4หารือรายการสินค้าและกฎถิ่นกำเนิดเฉพาะรายสินค้าระหว่างกัน
ไทยและปากีสถาน จะเจรจาความตกลงการค้าเสรีระหว่างกัน ครั้งที่ 4 หารือรายการสินค้าที่จะเปิดตลาดระหว่างกัน ระหว่างวันที่ 6-8 กันยายน 2559 ณ กรุงอิสลามาบัด ประเทศสาธารณรัฐอิสลามปากีสถาน
นางสาวสุนันทา กังวาลกุลกิจ รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ หัวหน้าผู้แทนไทยเข้าร่วมประชุมการเจรจา FTA ไทย-ปากีสถาน ครั้งที่ 4 เปิดเผยว่า ในการหารือ 3 ครั้งที่ผ่านมา มีความคืบหน้ามาก โดยในการหารือครั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายจะหารือรายการสินค้าที่ต้องการให้เปิดตลาดระหว่างกัน โดยไทยจะเสนอให้ปากีสถานเปิดตลาดสินค้าสำคัญ เช่น อาหารแปรรูป น้ำตาล เคมีภัณฑ์ ปิโตรเคมี และพลาสติก ยางพาราและผลิตภัณฑ์ ไม้อัด ไม้บาง และไม้แผ่น เยื่อและกระดาษ สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ของเครื่องใช้ไฟฟ้า ยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ เป็นต้น รวมทั้งกฎถิ่นกำเนิดเฉพาะรายสินค้า ข้อบทความตกลงด้านการค้าสินค้า ข้อบทด้านกฎถิ่นกำเนิดสินค้า รวมทั้งประเด็นด้านกฎหมายอื่นๆ
นางสาวสุนันทา กล่าวว่า การจัดทำ FTA ระหว่างไทยกับปากีสถาน จะช่วยให้ไทยสามารถขยายตลาดการค้าสู่ภูมิภาคเอเชียใต้และตะวันออกกลางได้มากขึ้น เนื่องจากปากีสถานเป็นตลาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ในภูมิภาคเอเชียใต้ รองจากอินเดีย ในขณะที่ปากีสถานก็สามารถใช้ไทยเป็นประตูสู่อาเซียน เป็นการเพิ่มโอกาสในการส่งออกโดยเฉพาะสินค้าวัตถุดิบ โดยปากีสถานยังมีทรัพยากรธรรมชาติที่สมบูรณ์และมีค่าเป็นจำนวนมาก เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และเพิ่มโอกาสในการลงทุนของทั้งสองประเทศและนักลงทุนจากต่างประเทศ
ปัจจุบันไทยให้ความสำคัญกับปากีสถาน ในฐานะตลาดส่งออกที่มีศักยภาพและมีประชากรมากเป็นอันดับ 6 ของโลก โดยในปี 2558 ปากีสถานเป็นคู่ค้าอันดับที่ 2 ของไทยในภูมิภาคเอเชียใต้ และอันดับที่ 42 ของไทยในตลาดโลก การค้าสองฝ่ายมีมูลค่า 1.03 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าร้อยละ 1.76 การส่งออกมีมูลค่า 913 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าร้อยละ 4.38 การนำเข้ามีมูลค่า 120 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงจากปีก่อนหน้าร้อยละ 14.62 ทั้งนี้ การค้าระหว่างไทยกับปากีสถานในระยะ 5 ปี ที่ผ่านมา (2554-2558) มีมูลค่าเฉลี่ย 1.02 พันล้านเหรียญสหรัฐ มีอัตราการขยายตัวลดลงเฉลี่ย 44.96 ต่อปี และมีสัดส่วนการค้าเฉลี่ยร้อยละ 0.23 ของมูลค่าการค้าระหว่างประเทศของไทย โดยไทยเป็นฝ่ายได้ดุลการค้ามาโดยตลอด
สำหรับสินค้าส่งออกของไทยที่มีศักยภาพ เช่น รถยนต์อุปกรณ์และส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก ผลิตภัณฑ์ยาง เส้นใยประดิษฐ์ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่อง เครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์พลาสติก ด้ายและเส้นใยประดิษฐ์ เป็นต้น และสินค้านำเข้าจากปากีสถาน เช่น สัตว์น้ำสด แช่เย็น แช่แข็ง แปรรูปและกึ่งสำเร็จรูป ด้ายและเส้นใย ผ้าผืน ยุทธปัจจัย สัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ เสื้อผ้าสำเร็จรูป ผลิตภัณฑ์สิ่งทออื่นๆ เครื่องดื่มประเภทน้ำแร่ น้ำอัดลมและสุรา พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช และเครื่องมือเครื่องใช้ที่เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ เป็นต้น
ข่าวเด่น