กระทรวงพาณิชย์ เผยได้ผลักดันการเจรจาใน WIPO ให้การจัดทำความตกลงระหว่างประเทศต้องมีข้อกำหนด การขออนุญาตก่อนใช้ และแบ่งปันผลประโยชน์กับประเทศไทย หากมีการนำสมุนไพรไทยไปพัฒนาต่อยอด
จากที่มีข่าวว่า ขณะนี้มีนักวิจัยบางประเทศ เช่น ญี่ปุ่น ได้ทำการวิจัย ใบกระท่อม และนำไปยื่นจดสิทธิบัตรในสหรัฐฯ ญี่ปุ่น รวมทั้งในไทย นั้น นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่ากรณีการจดสิทธิบัตรสารสกัดจากใบกระท่อมในไทย ตามที่มีข้อห่วงกังวล คงไม่เกิดขึ้นเนื่องจาก พ.ร.บ. สิทธิบัตร พ.ศ. 2522 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ของไทยไม่อนุญาตให้มีการจดสิทธิบัตรพืช หรือสารสกัดจากพืช กฎหมายสิทธิบัตรไทยรับจดเฉพาะกรณีกระบวนการ หรือวิธีการที่ใช้ในการสกัดที่มีการพัฒนาขึ้นใหม่หรือต่อยอดไปจากวิธีการเดิมทั่วๆ ไปเท่านั้น ไม่รับจดสิทธิบัตรสารสกัดใหม่ที่เกิดขึ้น โดยกฎหมายสิทธิบัตรของไทยจะไม่อนุญาตให้บุคคลใดถือสิทธิแต่เพียงผู้เดียว (exclusive rights) กับ สิ่งที่มีอยู่ตามธรรมชาติ กระท่อมเป็นพืชพื้นเมืองทั่วไปที่มีอยู่ตามธรรมชาติ จึงไม่ต้องกังวลว่าไทยจะรับจดสิทธิบัตร ให้นักวิจัย ทั้งนักวิจัยไทยและต่างชาติ และจากการตรวจสอบของ กรมทรัพย์สินทางปัญญาไม่พบกรณีนักวิจัยญี่ปุ่น ยื่นคำขอจดสิทธิบัตรสารสกัดใบกระท่อมในไทย
นอกจากนี้ กระท่อมอยู่ในบัญชีสารเสพติดให้โทษ ประเภทที่ 5 ตาม พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ของกระทรวงสาธารณสุข ห้ามผู้ใดผลิต นำเข้า จำหน่าย ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครอง หากจะดำเนินการต้องได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีก่อน ส่วนที่มีผู้เสนอว่าสมควรถอดใบกระท่อมออกจากบัญชียาเสพติด เพื่อให้สามารถผลิตขาย ในไทยและส่งออกสร้างรายได้นั้น คงต้องมีการแก้ไขกฎหมายซึ่งต้องทำอย่างรอบคอบ พิจารณาเหตุผลประกอบ เช่น ประเด็นที่ว่าใบกระท่อมเป็นสมุนไพร มีฤทธิ์บวกมากกว่าลบ มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์สนับสนุนน่าเชื่อถือเพียงใด
สำหรับข้อกังวลเรื่องต่างชาติเอาพืชไทยไปพัฒนาต่อยอดโดยไม่ขออนุญาตก่อน และไม่แบ่งปันผลประโยชน์ นั้น ไทยมีกฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืช ภายใต้การกำกับดูแลของกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งกำหนดว่าใครจะเอาพันธุ์พืชไทยไปใช้ต้องขออนุญาตก่อน และต้องเจรจาแบ่งปันผลประโยชน์ ซึ่งสอดรับกับอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ (Convention on Biodiversity หรือ CBD) ซึ่งไทยเป็นสมาชิก
หากบริษัทยาข้ามชาติซึ่งเป็นประเทศสมาชิก CBD และให้สัตยาบันอนุสัญญานี้แล้ว เช่น อังกฤษ สวิตเซอร์แลนด์ เยอรมนี และญี่ปุ่น เป็นต้น จะเอาใบกระท่อมซึ่งเป็นพืชพื้นเมืองของไทยไปพัฒนาต่อยอดก็ต้องขออนุญาตและเมื่อได้รับอนุญาตแล้วต้องแบ่งปันผลประโยชน์ให้ไทย ในฐานะเป็นสมาชิก CBD เช่นกัน ทั้งนี้อาจต้องมีการพิสูจน์ว่ากรณีที่นำไปใช้ในเชิงพาณิชย์เป็นพืชพื้นเมืองของไทยเท่านั้นหรือไม่
อย่างไรก็ดี บริษัทของประเทศเหล่านี้จะไม่สามารถเข้ามาตั้งฐานการผลิตยาที่สกัดจากใบกระท่อมในไทย หรือส่งออกมาไทยได้ หากไม่ได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพราะกระท่อมซึ่งใบมีสารเสพติด ให้โทษถือว่าห้ามผลิต จำหน่าย ในประเทศ และห้ามนำเข้าตั้งแต่ต้น
เพื่อเตรียมการรองรับการเจรจาจัดทำความตกลงระหว่างประเทศขององค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPO) ด้านการคุ้มครองทรัพยากรพันธุกรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น และการแสดงออกทางวัฒนธรรมดั่งเดิมซึ่งไทยร่วมกับประเทศกำลังพัฒนา อยู่ระหว่างผลักดันให้มีการกำหนดเงื่อนไขการบอกแหล่งที่มา ขออนุญาตก่อนใช้ และแบ่งปันผลประโยชน์กับประเทศหรือชุมชนเจ้าของทรัพยากรพันธุกรรม กรณีการนำสมุนไพร ทรัพยากรพันธุกรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นไปใช้ก่อนยื่นขอรับจดทะเบียนสิทธิบัตร กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้จัดหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทย เช่น กรมวิชาการเกษตร กรมการแพทย์แผนไทย สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ เป็นต้น ไปเมื่อกลางเดือนสิงหาคม 2559 และหน่วยงานของไทยอยู่ระหว่างจัดทำฐานข้อมูลพืชสมุนไพร ทรัพยากรพันธุกรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่นของไทย เพื่อให้เจ้าหน้าที่ภาครัฐ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียสามารถใช้เป็นแหล่งข้อมูลเพื่อติดตาม ตรวจสอบ และบังคับใช้ ตามเงื่อนไขการขออนุญาตก่อนใช้ และแบ่งปันผลประโยชน์ให้ประเทศ/ชุมชน ภายใต้ระบบที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
ข่าวเด่น