เมื่อ 5 ก.ย.59 ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวภายหลังการประชุมวิดีโอคอนเฟอเรนซ์กับนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (นพ.สสจ.) ทั่วประเทศ ถึงการเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสซิกาในประเทศไทย ว่า ขณะนี้ยังมี 4 จังหวัด คือ เชียงใหม่ บึงกาฬ เพชรบูรณ์ และจันทบุรี ที่ยังต้องเฝ้าระวังอย่างเข้มข้น โดยข้อมูลสัปดาห์ที่ผ่านมามีการเฝ้าระวังจนพบผู้ป่วยรายใหม่ประมาณ 20 คน โดยแต่ละจังหวัดจะพบประมาณ 4 - 5 คน แต่กลุ่มผู้ป่วยดังกล่าวไม่ต้องกังวล เพราะจะหายได้ไม่เกิน 1 สัปดาห์ ส่วนที่พบจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้น เนื่องจากปัจจุบันมีการตรวจคัดกรองที่ดีขึ้น ทำให้ตรวจพบง่ายขึ้นด้วย
ปลัดสธ.กล่าวว่า การประชุมทางไกลผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ ได้กำชับนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดทบทวนมาตรการเฝ้าระวัง ไม่ให้ประมาท เนื่องจากขณะนี้พบการระบาดในสิงคโปร์ และมาเลเซีย ขณะที่ประเทศไทยไม่ได้ระบาดวงกว้าง เป็นการพบในรายพื้นที่ที่สามารถควบคุมได้
นพ.โสภณ กล่าวว่า อยากขอความร่วมมือจากประชาชนและชุมชนในการดำเนินการตามมาตรการ 3 เก็บ คือ เก็บบ้าน เก็บขยะรอบบ้าน และเก็บน้ำ ซึ่งหมายถึงการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ซึ่งตอนนี้พ้นจากช่วงที่มีการรณรงค์กำจัดลูกน้ำยุงลายไป แต่จากการสำรวจพบว่าขณะนี้มีปริมาณลูกน้ำยุงลายเพิ่มขึ้นจากช่วงที่มีการรณรงค์ร้อยละ 10 เป็นร้อยละ 60 ดังนั้นอยากจะขอความร่วมมือกันในการกำจัดลูกน้ำยุงลายด้วย ซึ่งจะป้องกันได้ทั้งโรคซิกา ชิคุนกุนยา และไข้เลือดออกด้วย นอกจากนี้ขอให้นอนกางมุ้ง และหมั่นทายากันยุงโดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงหญิงวัยเจริญพันธุ์และหญิงตั้งครรภ์
ส่วนที่มีความกังวลกรณีหญิงตั้งครรภ์ที่หากติดไวรัสซิกาจะส่งผลต่อทารกให้ศีรษะเล็กนั้น จากการเฝ้าระวังในหญิงตั้งครรภ์ในพื้นที่เสี่ยงมีจำนวน 30 คน โดย 6 คน ที่คลอดทารกออกมาเป็นปกติดี ไม่มีภาวะศีรษะเล็ก เป็นปกติทุกราย นอกจากนี้ กรมควบคุมโรค กรมการแพทย์ ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์ ยังทำคู่มือสำรวจและขึ้นทะเบียนทารกพิการแต่กำเนิดจากทุกสาเหตุ รวมถึงการติดเชื้อไวรัสซิกาด้วย ซึ่งที่ผ่านมาในจำนวนเด็กศีรษะเล็กแต่กำเนิดในประเทศไทยเฉลี่ยปีละ 200 - 300 รายนั้น ยังไม่พบจากการติดเชื้อไวรัสซิกาแต่อย่างใด
ข่าวเด่น