ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
การรถไฟฯปฏิเสธไม่ได้ให้บ.เอกชนเข้าไปดัดแปลงรถ JR-West 4 คัน


 


การรถไฟฯ ปฏิเสธไม่ได้ให้บริษัทเอกชนเข้าไปดัดแปลงรถ JR-West 4 คัน เป็นรถจัดเช่าพิเศษก่อนมีการทำสัญญาว่าจ้าง ชี้เป็นเรื่องเข้าใจผิดเพราะบริษัทเอกชนที่เข้าไปนั้น ได้เข้าไปดำเนินการซ่อมแซมเพื่อติดตั้งกูบ (ผ้าใบคลุมทางเดินบริเวณข้อต่อของตู้โดยสารกับตู้โดยสาร) รถโดยสาร JR-west ซึ่งมีการว่าจ้างไปแล้วตั้งแต่ 19 สิงหาคม 2559 พร้อมชี้แจงเหตุเพลิงไหม้รถ JR WEST ที่โรงงานมักกะสัน เป็นเหตุสุดวิสัย แต่พนักงานสามารถควบคุมเพลิงทำให้ไม่เกิดความเสียหายแก่รถไฟ

สืบเนื่องจากกรณีมีสื่อมวลชนและสื่อสังคมออนไลน์ นำเสนอข่าวที่เกี่ยวข้องกับการเกิดเพลิงไหม้ รถ JR WEST ที่โรงงานมักกะสัน เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2559 ที่ผ่านมา พร้อมกับมีการตั้งข้อสังเกตว่าสาเหตุของการเกิดเพลิงไหม้เกิดจากการที่มีบริษัทรายหนึ่งเข้าไปในโรงงานมักกะสันทำการดัดแปลงรถ JR-West รวม 4 คัน เป็นรถจัดเช่าพิเศษ หรือ SRT Prestige ล่วงหน้าก่อนที่จะมีการทำสัญญาจ้างกับการรถไฟแห่งประเทศไทยอย่างถูกต้องนั้น

นายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องรายงานข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าวแล้ว โดยพบว่าในส่วนประเด็นเรื่องการเปิดให้บริษัทรายหนึ่งเข้าไปในโรงงานมักกะสัน ทำการดัดแปลงรถ JR-West รวม 4 คัน เป็นรถจัดเช่าพิเศษ หรือโบกี้จัดเฉพาะ หรือ SRT Prestige นั้น ขอยืนยันว่า ไม่เป็นความจริง และน่าจะเป็นเหตุเข้าใจผิด เพราะการเข้าไปซ่อมแซมดังกล่าวเป็นการว่าจ้างบริษัทเอกชนเข้าไปทำกูบรถโดยสาร JR-west พร้อมติดตั้ง จำนวน 7 ชุด ซึ่งดำเนินการโดยฝ่ายงานพัสดุรถโดยสาร ไม่ใช่โครงการอนุมุติดัดแปลงรถ JR-West จำนวน 4 คัน ดังที่มีการเผยแพร่ข่าวออกไป

ที่สำคัญการดำเนินการทำกูบรถโดยสาร JR-west พร้อมติดตั้ง จำนวน 7 ชุด ได้มีการดำเนินการว่าจ้างไปแล้วตั้งแต่วันที่ 19 สิงหาคม 2559 โดยมี บริษัท ภัทรภัณฑ์ มาร์เก็ตติง จำกัด เสนอราคารับจ้างติดตั้งกูบยางรถโดยสาร พร้อมติดตั้งโครงกูบผลิตด้วยเหล็ก เชื่อมประกอบแล้วทาสี และยึดต่อกับตัวรถด้วยสลัก จำนวน 7 ชุด เป็นวงเงิน 874,832 บาท และมีกำหนดส่งมอบงานภายใน 30 วัน

ส่วนโครงการดัดแปลงรถ JR-West เป็นรถจัดเช่าพิเศษ หรือ SRT Prestige เป็นอีกโครงการหนึ่งของการรถไฟฯ ที่อยู่ในขั้นตอนดำเนินโครงการ ซึ่งล่าสุดในการประชุมคณะกรรมการการรถไฟแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2559 ที่ประชุมได้อนุมัติให้มีการดัดแปลง JR-West ก่อนจำนวน 2 คัน แต่ปัจจุบันยังไม่ได้มีการอนุมัติการจัดจ้างหรือเปิดให้บริษัทเอกชนเข้ามาดัดแปลงตัวรถแต่อย่างใด

นายวุฒิชาติฯ กล่าวต่อว่า กรณีเหตุเกิดไฟไหม้รถ JR WEST ที่โรงงานมักกะสัน จากการตรวจสอบได้รับรายงานพบว่า เมื่อเวลา 8.30 น. วันที่ 29 สิงหาคม 2559 เจ้าหน้าที่บริษัทภัทรภัณฑ์ฯ ได้เข้ามาดำเนินการซ่อมแซมดัดแปลงและติดตั้งโครงกูบ รถ บนท.ป.237 โดยใช้ขั้นตอนและวิธีการปฏิบัติงานดังเช่นที่ผ่านมา แต่เมื่อเวลา 10.45 น. ขณะที่เจ้าหน้าที่ ดำเนินการรื้อถอดโครงกูบเก่าออกโดยใช้เครื่องตัดแก๊สตัดออก ได้เกิดเหตุเพลิงไหม้ขึ้น เจ้าหน้าที่จึงได้ช่วยกันดับไฟเพื่อไม่ให้เพลิงลุกไหม้ไปในวงกว้างมากขึ้น เมื่อเพลิงดับลง เจ้าหน้าที่ได้เข้ามาดำเนินการตรวจสอบพื้นที่เพลิงไหม้ใน รถ บนท.ป.237 โดยในส่วนโครงสร้างภายใน ภายนอกของตัวรถไม่มีความเสียหาย เนื่องจากอุปกรณ์ภายในตัวรถได้รื้อถอนออกมาหมดแล้วคงเหลือเฉพาะแต่โครงเหล็ก ส่วนค่าเสียหายที่บริษัทภัทรภัณฑ์ฯ ต้องรับผิดชอบ คือ น้ำยาสารดับเพลิงที่ใช้ไปในครั้งนี้ โดยบริษัทจะต้องนำถังดับเพลิงบรรจุก๊าซให้เต็มและส่งมอบคืนการรถไฟฯ

นอกจากนี้เพื่อไม่ให้มีเหตุเพลิงไหม้เกิดขึ้นอีก จึงได้สั่งการให้จัดส่งเจ้าหน้าที่ของการรถไฟฯ เข้าควบคุมการทำงานให้เป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัย และได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ของบริษัทเพิ่มความระมัดระวังในการใช้เครื่องมือตัดแก๊ส และเครื่องมือเชื่อมไฟฟ้า หากเกิดเหตุความเสียหายแก่การรถไฟฯ บริษัทจะต้องรับผิดชอบตามความเป็นจริงต่อไป
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 05 ก.ย. 2559 เวลา : 18:48:11

11-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 11, 2024, 2:47 am