รมว.แรงงาน เปิดเผยแผนการขับเคลื่อนและการปฏิรูปการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์และแรงงานผิดกฎหมาย 6 ประเด็น ได้แก่ 1) ด้านกฎหมาย 2) ด้านพันธกรณีระหว่างประเทศ 3) ด้านช่องทางการร้องเรียน 4) ด้านการเชื่อมโยงข้อมูล 5) ด้านการบังคับใช้กฎหมาย 6) ด้านอื่นๆ พร้อมกำหนดมาตรการแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวแย่งอาชีพคนไทยเป็น 2 ระยะ คือ ระยะเร่งด่วน (กันยายน – ธันวาคม 2559) และ ระยะยาว (ภายในปี 2560)
พลเอกศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์และแรงงานผิดกฎหมาย ครั้งที่ 4/2559 ณ ห้องประชุม ประสงค์ รณะนันทร์ ชั้น 5 อาคารกระทรวงแรงงาน วันนี้ (5 ก.ย. 59) โดยที่ประชุมได้พิจารณาแผนการขับเคลื่อนและการปฏิรูปการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์และแรงงานผิดกฎหมาย ประกอบด้วย 6 ประเด็น คือ 1) ด้านกฎหมาย ได้แก่ การแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ การออกกฎหมายควบคุมผู้รับอนุญาตจัดหาแรงงานต่างด้าวให้กับนายจ้างในประเทศ การแก้ไขกฎระเบียบให้นายจ้างใช้แรงงานต่างด้าวถูกกฎหมาย และเพิ่มโทษการใช้แรงงานเด็ก 2) ด้านพันธกรณีระหว่างประเทศ ได้แก่ การขับเคลื่อนการปฏิบัติตามอนุสัญญาว่าด้วยการค้ามนุษย์แห่งอาเซียน การจัดตั้งศูนย์ตามแนวชายแดนเพื่ออบรมให้ความรู้ เตรียมความพร้อมก่อนเดินทางมาทำงาน และเป็นศูนย์ประสานระหว่างนายจ้าง ต่างด้าว และประเทศต้นทาง และการนำเข้าแรงงานต่างด้าวในกิจการประมง 3) ด้านช่องทางการร้องเรียน โดยเพิ่มช่องทางการร้องเรียนหรือแจ้งเบาะแสการค้ามนุษย์ 4) ด้านการเชื่อมโยงข้อมูล โดยจัดทำระบบฐานข้อมูล เพื่อให้สามารถแลกเปลี่ยน ตรวจสอบกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 5) ด้านการบังคับใช้กฎหมาย การเร่งรัดดำเนินการปราบปรามการค้ามนุษย์ 6) ด้านอื่นๆ ได้แก่ การประเมินผลการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ การสำรวจข้อมูลที่จำเป็นต่อการวางรากฐานการป้องกันปัญหาการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน การช่วยเหลือแรงงานประมงที่ตกสำรวจอินโดนีเซีย ซึ่งที่ประชุมเห็นชอบแผนดังกล่าว โดย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการฯ ได้กำชับให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งแก้ปัญหา คนต่างด้าวแย่งอาชีพคนไทย เพราะส่งผลกระทบต่อคนไทย ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคง รวมถึงปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร สร้างการรับรู้ที่ถูกต้องทั้งในและนอกประเทศด้วย
นายธีรพล ขุนเมือง ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงานในฐานะโฆษกกระทรวงแรงงาน กล่าวเพิ่มเติมภายหลังการประชุมว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบกำหนดมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวแย่งอาชีพ คนไทยเป็น 2 ระยะ คือ 1) ระยะเร่งด่วน (กันยายน – ธันวาคม 2559) โดยกรมการจัดหางานประสานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง เจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง ฯลฯ ตามคำสั่ง คสช. ที่ 100 ออกตรวจปราบปราม การลักลอบการทำงานของคนต่างด้าวในเขตกรุงเทพฯ ควบคู่กับคำสั่ง คสช. ที่ 101 ดำเนินการพื้นที่จังหวัด โดยใน เขตกรุงเทพฯ มี หม่อมหลวงปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธานคณะทำงาน และต่างจังหวัด มีผู้ราชการจังหวัด เป็นประธานคณะทำงาน พร้อมทั้งกำหนดมีการออกตรวจอย่างน้อย 20 ครั้ง โดยเน้นกลุ่มที่ประกอบอาชีพที่ไม่อนุญาตให้คนต่างด้าวทำ เช่น ค้าขาย รปภ. ธุรกิจท่องเที่ยว โดยแบ่งกลุ่มเป้าหมายให้ชัดเจน ทั้งในส่วนของกลุ่มที่ลักลอบทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาต และกลุ่มที่ประกอบอาชีพที่ไม่อนุญาตให้คนต่างด้าวทำ รวมทั้งจัดประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อศึกษา วิเคราะห์ความจำเป็นในการปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้สามารถบังคับใช้และป้องปรามการกระทำผิดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนสร้างการรับรู้ สร้างความเข้าใจ 2) ระยะยาว (ภายในปี 2560) มอบให้หน่วยงานด้านความมั่นคง และตำรวจตรวจคนเข้าเมือง เพิ่มความเข้มข้น ในการตรวจสกัดกั้นการลักลอบเข้าเมืองของแรงงานต่างด้าว ดำเนินการตรวจบังคับใช้กฎหมายตามแผนการตรวจของชุดเฉพาะกิจตามคำสั่ง คสช. ที่ 100 และ 101 เสนอปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่จำเป็น และปฏิบัติการข่าวสารอย่างต่อเนื่อง เพื่อรณรงค์ปลูกจิตสำนึกให้คนในชุมชนร่วมมือกันเฝ้าระวัง แจ้งเบาะแสเมื่อพบเห็นการกระทำที่ไม่เป็นไปตามกฎหมาย ไม่สนับสนุนการกระทำผิดกฎหมาย เช่น ไม่ซื้อสินค้า เป็นต้น
นายอารักษ์ พรหมณี อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวเพิ่มเติมว่า การแก้ปัญหาดังกล่าว จะต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เช่น เจ้าของตลาด เจ้าของห้างสรรพสินค้า พ่อค้าแม่ค้าคนไทย รวมทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ต้องช่วยกันตรวจสอบดูแล โดยเฉพาะเจ้าของตลาดและห้างสรรพสินค้า ควรมีส่วนรับผิดชอบหากปล่อยให้คนต่างด้าวมาค้าขายในพื้นที่ อย่างไรก็ตามคณะอนุกรรมการฯ จะมีแนวทางการแก้ปัญหาและบทลงโทษผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อส่งให้คณะกรรมการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์และแรงงานผิดกฎหมายพิจารณา รวมทั้งกรณี คนต่างด้าว ใช้วีซ่านักท่องเที่ยว เข้ามาทำงานหรือค้าขายในไทย ก็จะต้องประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงการต่างประเทศ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กระทรวงพาณิชย์ วางแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาด้วย
ข่าวเด่น