บ้านสร้างเอง Q3 ส่อสะดุดหลังเหตุระเบิดภาคใต้ THBA ดึงแบงก์เอกชน-รัฐกระตุ้นตลาด-สินเชื่อบ้านสร้างเอง
THBA ชี้ตลาดบ้านสร้างเองเดือนก.ค.-ส.ค. 59 ยังอึมครึม หลังเจอเหตุระเบิดภาคใต้ แม้ต่างร่วมมือกระตุ้นกำลังซื้อแต่เสียงตอบรับยังแผ่ว เผย 8 เดือนแรก แนวโน้มผู้บริโภคกู้สร้างบ้านปรับตัวดีขึ้น พร้อมแนะนายแบงก์เข้าใจพฤติกรรมลูกค้ากลุ่มกู้สร้างบ้าน วินัยการเงินดีและไม่ปล่อยเป็นหนี้เสีย เล็งโค้งสุดท้ายไตรมาส 3 จับมือแบงก์พาณิชย์และรัฐอัดแคมเปญ กระตุ้นตลาดและสินเชื่อบ้านสร้างเอง มั่นใจช่วยดันมูลค่าตลาดรวมปี 59 เข้าเป้า 1.5 หมื่นล้านบาท
นายสิทธิพร สุวรรณสุต นายกสมาคมไทยรับสร้างบ้าน (Thai Home Builders Association: THBA) เปิดเผยว่า ทิศทางตลาดบ้านสร้างเองทั่วประเทศในช่วงไตรมาสสามยังไม่สดใสนัก ด้วยเพราะเดือนก.ค.-ส.ค. 59 ที่ผ่านมา เป็นช่วงฤดูฝนหรือช่วงโลซีซั่นของธุรกิจสร้างบ้าน โดยประชาชนส่วนใหญ่ไม่นิยมปลูกสร้างบ้านในระยะนี้ และบางพื้นที่ในภูมิภาค เช่น ภาคกลาง ภาคอีสาน ประชาชนบางส่วนยังเชื่อว่าในช่วงเดือนเข้าพรรษาไม่ควรปลูกสร้างบ้านหลังใหม่ กอปรกับเดือนสิงหาคมได้เกิดเหตุระเบิดขึ้นใน 7 จังหวัดภาคใต้ จนกลายเป็นปัจจัยที่กระตุกความเชื่อมั่นหรือกำลังซื้อ ของผู้บริโภคและประชาชนพอสมควร ขณะที่ผู้ประกอบการรับสร้างบ้านที่แข่งขันแชร์ส่วนแบ่งอยู่ในตลาดบ้านสร้างเอง ต่างก็พยายามช่วยกันกระตุ้นแรงซื้อ แต่เสียงตอบรับจากผู้บริโภคก็ไม่มากพอ ดังนั้นในช่วงเดือนกันยายนหรือโค้งสุดท้ายไตรมาสสามนี้ ผู้ประกอบการคงต้องปรับตัวและมีกลยุทธ์การตลาดใหม่ๆ ออกมาชิงแชร์ลูกค้ากันมากขึ้น
"สำหรับ ผู้บริโภคที่ใช้บริการสร้างบ้านหลังใหม่กับสมาชิกสมาคมฯ ในช่วง 8 เดือนที่ผ่านมา (ม.ค.-ส.ค. 2559) พบว่ามีสัดส่วนการใช้เงินออมหรือเงินสด คิดเป็นร้อยละ 75 และใช้เงินกู้ยืมหรือสินเชื่อธนาคาร คิดเป็นร้อยละ 25 ซึ่งถือว่าการใช้สินเชื่อปลูกสร้างบ้านมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันปีที่แล้ว ส่วนหนึ่งเป็นเพราะในปีนี้เกณฑ์การพิจารณา การปล่อยสินเชื่อปลูกสร้างบ้าน ของธนาคารผ่อนปรนลงหรือเข้มงวดน้อยลงกว่าเดิม ซึ่งถือเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้ประชาชนที่เงินออมไม่พอ สามารถมีที่อยู่อาศัยหรือบ้านหลังใหม่ได้ง่ายขึ้น รวมถึงยังช่วยส่งเสริมและกระตุ้นตลาดบ้านสร้างเอง ให้สามารถขยายตัวได้ต่อเนื่อง"
จากข้อมูลดังกล่าว ในมุมมองของ "นายสิทธิพร" นายกสมาคมฯ ระบุว่า อยากชี้ให้ธนาคารพาณิชย์และธนาคารของรัฐ เห็นถึงพฤติกรรมของผู้บริโภคที่สร้างบ้านบนที่ดินของตัวเอง ซึ่งกลุ่มนี้จะมีที่ดินเปล่าอยู่ก่อนแล้ว อาจได้รับมรดกมาจากบุพการี หรืออาจซื้อที่ดินเปล่าเก็บไว้ ด้วยการผ่อนชำระกับธนาคารมาระยะหนึ่ง ฉะนั้นโดยพฤติกรรมจึงมีความเจ้าของทรัพย์สูง มีความหวงแหน และจัดเป็นกลุ่มผู้มีวินัยทางการเงิน ทั้งนี้เมื่อนำที่ดินและบ้านที่จะปลูกสร้าง มาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเงินกู้กับธนาคาร โอกาสที่จะกลายเป็นหนี้เสียจึงน้อยมากตามเหตุผลข้างต้น จึงขอเสนอแนะว่าธนาคารควรพิจารณาปรับเกณฑ์ปล่อยสินเชื่อบ้านสร้างเองกลุ่มนี้ ให้แตกต่างกับสินเชื่อซื้อบ้านพร้อมที่ดิน
ที่ผ่านมา ธนาคารกำหนดเกณฑ์ความสามารถในการผ่อนชำระหรือรายได้ต้องมากกว่า 3 เท่าของเงินผ่อนชำระต่อเดือน (เกณฑ์เดียวกับสินเชื่อซื้อบ้านพร้อมที่ดิน) ทั้งนี้ หากธนาคารปรับลดลงมาเหลือ 2.5 หรือ 2 เท่าได้ สมาคมฯ เชื่อว่าสินเชื่อบ้านสร้างเองจะขยายตัวได้อีกมาก ถือเป็นการส่งเสริมตลาดบ้านสร้างเองและผู้ประกอบการรับสร้างบ้าน ที่ส่วนใหญ่เป็น SMEs อีกด้วย เพียงแต่ธนาคารต้องระมัดระวังและแนะนำให้ผู้บริโภค เลือกว่าจ้างผู้ประกอบการรับสร้างบ้านที่เชื่อถือได้ หรือลงทะเบียนไว้กับธนาคารและ 2 สมาคมรับสร้างบ้าน ฯลฯ เป็นต้น
สำหรับภาพรวมตลาดรับสร้างบ้านทั่วประเทศในช่วง 2 เดือน (ก.ค.-ส.ค. 2559) พบว่า ความต้องการสร้างบ้านหลังใหม่และกำลังซื้อในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคใต้ กรุงเทพฯ และปริมณฑลปรับตัวดีขึ้น ขณะที่ภาคกลางและภาคอีสานกำลังซื้อยังทรงตัว เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่แล้ว อย่างไรก็ตาม สมาคมฯ อยู่ระหว่างหารือกับธนาคารพาณิชย์และธนาคารของรัฐ 2 แห่ง เพื่อร่วมมือกันผลักดันและสนับสนุนสินเชื่อบ้านสร้างเองให้แก่ กลุ่มข้าราชการ รัฐวิสาหกิจ และพนักงานองค์กรที่มีสวัสดิการกับธนาคาร หากใช้บริการปลูกสร้างบ้านกับสมาชิกสมาคมไทยรับสร้างบ้าน จะได้รับอัตราดอกเบี้ยต่ำจากธนาคาร และยังได้รับโปรโมชั่น ฟรี ค่าจดจำนอง ค่าประเมิน ค่าตรวจงวดงาน ฯลฯ นอกจากนี้ ธนาคารยังปรับการชำระเงินค่างวดก่อสร้างให้ตรงตามสัญญา โดยผู้ขอกู้ไม่ต้องเตรียมเงินไว้สำรองจ่ายค่างวดอีกด้วย สมาคมฯ เชื่อว่าแคมเปญดังกล่าวจะช่วยฉุดตลาดรับสร้างบ้านปีนี้ขยายตัวได้ตามที่คาดการณ์ไว้ประมาณ 1.4-1.5 หมื่นล้านบาท นายสิทธิพร กล่าวสรุป
ข่าวเด่น