รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศร่วมลงนามในสารขยายจำนวนภาคีในสนธิสัญญามิตรภาพและความร่วมมือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเข้าร่วมการประชุมที่เกี่ยวข้อง ในกรอบการประชุมสุดยอดอาเซียน
เมื่อวันที่ ๖ กันยายน ๒๕๕๙ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเดินทางเยือนเวียงจันทน์ เพื่อเตรียมการสำหรับการเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียนและการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้องรวมทั้งสิ้น ๑๔ การประชุมและการประชุมสุดยอดแม่โขง-ญี่ปุ่นของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ซึ่งในการประชุมเหล่านี้จะมีผู้นำประเทศจากทั้งในและนอกภูมิภาคอาเซียนรวมทั้งสิ้น ๑๘ ประเทศเข้าร่วม ซึ่งมีขนาด GDP รวมกันคิดเป็นร้อยละ ๕๕ ของ GDP โลก โดยในวันนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้ปฏิบัติหน้าที่ใน ๓ ด้าน ดังนี้
๑. ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้เข้าร่วมพิธีลงนามในสารขยายจำนวนภาคีในสนธิสัญญามิตรภาพและความร่วมมือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (TAC) เพื่อรับรองการเข้าร่วมเป็นอัครภาคีอย่างเป็นทางการในสนธิสัญญาดังกล่าวโดย ๓ ประเทศ คือ โมร็อกโก อียิปต์ และชิลี ซึ่งเป็นการต่อยอดจากแถลงการณ์อาเซียนในโอกาสครบรอบ ๔๐ ปีของสนธิสัญญาฯ ที่ไทยเป็นผู้เสนอในการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอาเซียน ครั้งที่ ๔๙ เมื่อเดือนกรกฎาคม ๒๕๕๙
๒. ในฐานะหัวหน้าผู้แทนไทยในคณะมนตรีประชาคมการเมืองและความมั่นคง (ซึ่งเป็นกลไกประสานงานหลักระหว่างกลไกเฉพาะสาขาของอาเซียนภายใต้เสาการเมืองและความมั่นคง เช่น ที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ที่ประชุมกลาโหมอาเซียน ที่ประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านกฎหมายและที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศด้านอาชญากรรมข้ามชาติ โดยการประชุมคณะมนตรีฯ ครั้งนี้เป็นครั้งที่ ๑๔) ได้ร่วมแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นกับผู้แทนประเทศสมาชิกในประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาค อาทิ ประเด็นคาบเกี่ยวหลายหน่วยงานภายใต้เสาการเมืองและความมั่นคง (cross-sectoral issues) และประเด็นทะเลจีนใต้ โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้ย้ำถึงความสำคัญของการทำให้ทะเลจีนใต้เป็นทะเลแห่งสันติภาพ เสถียรภาพ และการพัฒนาที่ยั่งยืน
๓. นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศยังได้ทำหน้าที่หัวหน้าคณะผู้แทนไทยในการประชุมคณะมนตรีประสานงานอาเซียน ครั้งที่ ๑๘ ซึ่งเป็นกลไกประสานงานหลักระหว่างสามเสาอาเซียน ได้แก่ เสาการเมืองและความมั่นคง เสาเศรษฐกิจ และเสาสังคมและวัฒนธรรม โดยในการประชุมครั้งนี้ ที่ประชุมติดตามผลจากการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ ๒๗ เมื่อวันที่ ๒๑-๒๒ พฤศจิกายน ๒๕๕๘ ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย และเตรียมการการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ ๒๘ และ ๒๙ และการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้อง โดยนอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศยังได้กล่าวยินดีที่ผู้นำจะรับรองเอกสารสำคัญ ๒ ฉบับ ได้แก่ แผนงานแม่บทว่าด้วยความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียน ค.ศ. ๒๐๒๕ (MPAC 2025) และแผนงานข้อริเริ่มเพื่อการรวมตัวของอาเซียน ฉบับที่ ๓ (IAI Work Plan III) รวมทั้งรายงานความคืบหน้าการดำเนินการของประเทศไทยในฐานะประเทศผู้ประสานงานของอาเซียนในการส่งเสริมความเชื่อมโยงระหว่างวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน ๒๐๒๕ กับวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ.๒๐๓๐ ของสหประชาชาติ (Complementarities between the ASEAN Community Vision 2025 and the UN 2030 Agenda for Sustainable Development) และเสนอให้คณะมนตรีประสานงานอาเซียนมอบหมายให้กลไกเฉพาะสาขาของอาเซียน (Sectoral Bodies) ศึกษาแนวทางในการส่งเสริมความเชื่อมโยงฯ โดยใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่จัดทำโดยประเทศไทย และได้แจ้งกำหนดการสำหรับการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนสมัยพิเศษว่าด้วยเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน ในระหว่างการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ ๗๑
ข่าวเด่น