ไทยชื่นชมการเป็นประธานอาเซียนของสปป.ลาว พร้อมสนับสนุนทุกด้านโดยเฉพาะการพัฒนาในสามสาขาหลัก
วันนี้ (6 กันยายน 2559) เวลา 10.00 น. พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พบหารือทวิภาคีกับ นายทองลุน สีสุลิด นายกรัฐมนตรี ณ สำนักงานนายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
การหารือครั้งนี้เป็นการพบกันครั้งที่ 2 หลังจากที่นายกรัฐมนตรี สปป.ลาวได้เดินทางเยือนไทยอย่างเป็นทางการ เพื่อแนะนำตัวในโอกาสรับตำแหน่งใหม่ เมื่อวันที่ 5 – 6 กรกฎาคม 2559
ภายหลังการหารือ พลตรี วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
นายกรัฐมนตรี กล่าวชื่นชม สปป.ลาว ในการทำหน้าที่ประธานอาเซียนในปีนี้ และเชื่อมั่นว่า การประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 28 และ 29 จะสำเร็จลุล่วงเป็นอย่างดีภายใต้การเป็นประธานอาเซียนของ สปป.ลาว ซึ่งไทยพร้อมที่จะสนับสนุน สปป.ลาว ในทุกด้าน โดยเฉพาะความร่วมมือเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนใน 3 สาขาหลัก ได้แก่ การเกษตร การศึกษา และสาธารณสุข รวมทั้ง แบ่งปันประสบการณ์การนำแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งยึดหลัก “พอประมาณ มีเหตุผล และมีภูมิคุ้มกัน” มาใช้เป็นตัวแบบของการพัฒนาในลาว
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวขอบคุณ ที่นายกรัฐมนตรี สปป.ลาวตอบรับเข้าร่วมการประชุมสุดยอด Asia Cooperation Dialogue (ACD) ระหว่างวันที่ 9 – 10 ตุลาคม 2559 ที่กรุงเทพฯ
โดยผู้นำทั้งสอง ยังได้ติดตามประเด็นที่ได้มีการหารือในการเยือนไทยอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรี สปป.ลาว ไม่ว่าจะเป็น การเชื่อมโยงด้านการท่องเที่ยวข้ามแดนไทย – ลาว ซึ่งปัจจุบัน ฝ่ายไทย โดยกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้ยกร่างแผนแม่บทการพัฒนาการเชื่อมโยงด้านการท่องเที่ยวข้ามแดนไทย – ลาว บริเวณภูชี้ฟ้าและภูชี้ดาว จังหวัดเชียงราย และบริเวณช่องทางบ้านฮวก – กิ่วหก จังหวัดพะเยา เสร็จแล้ว และอยู่ระหว่างการขอความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยจะประสานงานกับฝ่ายลาวเพื่อขอรับความเห็นต่อร่างแผนแม่บทดังกล่าวต่อไป เพื่อจะได้ช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวของทั้งสองประเทศ ต่อไป
สำหรับประเด็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเชื่อมโยงไทย – ลาว ฝ่ายไทยกำลังพิจารณาข้อเสนอของฝ่ายลาว ไม่ว่าจะเป็น การก่อสร้างสะพานมิตรภาพ แห่งที่ 5 (บึงกาฬ – บอลิคำไซ) แห่งที่ 6 (อุบลราชธานี – สาละวัน) และแห่งที่ 7 (เลย – เวียงจันทน์) โดยไทยจะพิจารณาพัฒนาความเชื่อมโยงในบริเวณพื้นที่ที่สองฝ่ายได้ประโยชน์ร่วมกัน
ด้านแรงงาน ผู้นำทั้งสองยินดีที่สองฝ่ายร่วมกันทำงานอย่างมุ่งมั่นเพื่อจัดทำบันทึกข้อตกลง (Agreement) ว่าด้วยการจ้างงาน เพื่อประโยชน์ในการจ้างแรงงานลาวอย่างถูกกฎหมาย ตลอดจนดูแลและคุ้มครองผลประโยชน์ของแรงงานลาวอย่างสมบูรณ์แบบต่อไป โดยหวังว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานทั้งสองฝ่ายจะสามารถลงนามในบันทึกข้อตกลงฯ นี้ได้ ในอนาคตอันใกล้
ด้านการค้าและการลงทุน ไทยได้ขอให้ฝ่ายลาวเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมแผนความร่วมมือระหว่างกระทรวงพาณิชย์กับกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า สปป.ลาว ครั้งที่ 7 ในโอกาสแรก เพื่อหน่วยงานขยายผลในประเด็นที่นายกรัฐมนตรีสองฝ่ายเคยได้หารือกันไว้ อาทิ การส่งเสริมการค้าชายแดน การส่งเสริมการลงทุน รวมทั้ง การขยายเวลานำเข้าข้าวโพดจากลาว เป็นต้น
ด้านพลังงาน ไทยสนับสนุนนโยบาย “แบตเตอรี่แห่งเอเชีย”และขอบคุณฝ่ายลาวที่สนับสนุนความมั่นคงด้านพลังงานของไทย โดยฝ่ายไทยพร้อม ขยายกรอบการรับซื้อไฟฟ้าจาก สปป.ลาวจาก 7,000 เป็น 9,000 เมกะวัตต์
ข่าวเด่น