กระทรวงแรงงาน ระดมข้อความคิดเห็นกำหนดอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงาน เพิ่มเติมใน 12 สาขา จากปัจจุบันจำนวน 55 สาขาอาชีพ คาดสามารถประกาศบังคับใช้ได้เดือนตุลาคมนี้
หม่อมหลวงปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวในโอกาสเป็นประธานเปิดการสัมมนารับฟังความคิดเห็น (ร่าง) อัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ 12 สาขาอาชีพ ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ กรุงเทพฯ ว่า ปัจจุบันรัฐบาลได้กำหนดยุทธศาสตร์สำคัญที่ต้องการพัฒนาประเทศจากประเทศไทย 3.0 ไปสู่ประเทศไทย 4.0 ที่เป็น "Value-Based Economy" หรือ "เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม" เพื่อนำพาให้ก้าวพ้นกับดักประเทศรายได้ปานกลาง ไปเป็นประเทศรายได้สูง ทั้งนี้ การพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตของแรงงานจะบังเกิดผลดีในวงกว้าง มิใช่มีเพียงการพัฒนาทางตรงคือ การพัฒนาความรู้ ทักษะฝีมือ และความสามารถเท่านั้น ซึ่ง "การกำหนดอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ" ถือเป็นกลยุทธ์หนึ่งที่เป็นแรงจูงใจส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาทางอ้อมด้วย เพราะการมีอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ และอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ จะเป็นเสมือนหนึ่งการมีเส้นทางความก้าวหน้าในอาชีพ (Career Path) ของลูกจ้างตั้งแต่เริ่มเข้าสู่ตลาดแรงงานใหม่ (Unskilled labour) จนกระทั่งถึงช่างฝีมือ (Skilled labour) ทำให้ลูกจ้างมีขวัญและกำลังใจในการทำงาน ส่งผลให้การผลิตสินค้าและบริการมีคุณภาพ ลูกจ้างและนายจ้างได้รับประโยชน์ทั้งสองฝ่าย ส่วนผู้บริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศได้รับประโยชน์จากการซื้อสินค้า และบริการที่มีคุณภาพ และในที่สุดประโยชน์โดยรวมก็จะตกอยู่กับประเทศไทย
ทั้งนี้ เชื่อว่านายจ้างมีความพร้อมจ่ายค่าจ้างให้กับลูกจ้างที่มีฝีมือ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน จึงได้ร่วมกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง กำหนดสมรรถนะความสามารถในสาขาอาชีพต่างๆ รวมทั้งกำหนดอัตราค่าจ้างที่เหมาะสมกับความรู้ความสามารถ ซึ่งจะช่วยสร้างแรงจูงใจให้แรงงาน พัฒนาตนเองให้มีทักษะที่สูงขึ้น เพื่อให้ได้ค่าจ้างที่สูงขึ้น โดยเชื่อว่าการพัฒนาคนด้วยมาตรฐานจะทำให้ผลิตภาพแรงงาน (Labour Productivity) ดียิ่งขึ้น สินค้าที่ผลิตก็จะมีคุณภาพด้วยเช่นกัน ผู้ประกอบการไทยก็จะมีศักยภาพแข่งขันได้ในตลาดโลก” ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าว
ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า หลังจากที่ได้รับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ ใน 12 สาขาอาชีพ 3 กลุ่มอุตสาหกรรมแล้ว จะนำเข้าคณะอนุกรรมการค่าจ้างอีกครั้ง เพื่อพิจารณาจัดเข้าระบบตามสูตรการคำนวณ ก่อนจะนำเข้าคณะกรรมการค่าจ้างพิจารณาในลำดับต่อไป โดยคาดว่าภายในเดือนตุลาคมนี้จะสามารถประกาศบังคับใช้ได้
ปัจจุบันอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงาน มีผลบังคับใช้แล้วใน 11 กลุ่มอุตสาหกรรม รวม 55 สาขา อาทิ ช่างซ่อมรถยนต์ ผู้ประกอบอาหาร ช่างไฟฟ้าภายในอาคาร เป็นต้น มีอัตราค่าจ้าง ตั้งแต่ 320 บาท ถึง 775 บาท ตามระดับความสามารถ สำหรับ 12 สาขาอาชีพ ใน 3 กลุ่มอุตสาหกรรม ที่ต้องจัดทำอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือในครั้งนี้ ประกอบด้วย 1). อุตสาหกรรมจักรกลและโลหะการ จำนวน 4 สาขา คือ ช่างเทคนิคเขียนแบบเครื่องกล/ช่างเชื่อมทิกสำหรับอุตสาหกรรมจักรกลและโลหะการ/ช่างเทคนิคระบบส่งกำลัง/ช่างเทคนิคไฮโดรลิก 2). อุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น จำนวน 4 สาขา คือ ช่างเชื่อมระบบท่อในอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น/ช่างเทคนิคเครื่องปรับอากาศขนาดใหญ่/ช่างเทคนิคห้องเย็นขนาดเล็ก/พนักงานประกอบเครื่องปรับอากาศ 3). อุตสาหกรรมแม่พิมพ์ จำนวน 4 สาขา คือ ช่างเทคนิคเครื่องกัดอัตโนมัติ /ช่างเทคนิคเครื่องอีดีเอ็ม/ช่างเทคนิคเครื่องไวร์คัดอีดีเอ็ม/และช่างขัดเงาแม่พิมพ์ โดยมีร่างอัตราค่าจ้างตั้งแต่ 385 บาท จนถึง 550 บาท ในมาตรฐานฝีมือ 2 ระดับ
ข่าวเด่น