สรรพากรจัดสัมมนาร้านขายยาแนะให้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล และเตรียมธุรกิจให้พร้อมเข้าสู่ระบบ National e-Payment
กรมสรรพากรเดินหน้าเชิญชวนร้านขายยาทั่วประเทศเกือบ 2 หมื่นรายเข้าระบบภาษี แนะนำและสนับสนุนให้เปลี่ยนสถานะการประกอบการจากบุคคลธรรมดาเป็นนิติบุคคล โดยมอบสิทธิประโยชน์ช่วยลดภาระภาษี แนะให้จัดทำบัญชีชุดเดียว รวมทั้งเติมความรู้ให้พร้อมก่อนเข้าสู่ระบบ National e-Payment
นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร เป็นประธานในการสัมมนาเรื่อง “ธุรกิจก้าวหน้า ร้านขายยาสู่สากล” จัดโดยกรมสรรพากร เพื่อให้ผู้ประกอบการธุรกิจร้านขายยาที่เป็นสมาชิกสมาพันธ์พัฒนาคุณภาพร้านยาแห่งประเทศไทย (สพย.) ได้รับความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับนโยบายของกรมสรรพากรที่ส่งเสริมให้บุคคลธรรมดาประกอบธุรกิจในรูปนิติบุคคล การให้ความรู้ความเข้าใจในการปฏิบัติเกี่ยวกับภาษีอากรและการจัดทำบัญชีชุดเดียวให้ถูกต้อง เพื่อให้สามารถนำความรู้ที่ได้ไปใช้ในการดำเนินธุรกิจ โดยจัดขึ้นเมื่อวันที่ 7 กันยายน 2559 เวลา 09.00 – 12.00 น. ณ ห้องพระอุเทน 1 ชั้น 2 อาคารกรมสรรพากร มีผู้เข้าฟังการสัมมนาประมาณ 400 คน และในงานยังได้จัดกิจกรรม“คลีนิกตอบปัญหาการจดทะเบียนนิติบุคคล” เพื่อให้ผู้ประกอบการร้านขายยาที่มีข้อสงสัย สอบถามแนวทางปฏิบัติที่ถูกต้อง ได้อย่างเต็มที่
นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า “ปีนี้กรมสรรพากรเร่งขยาย ฐานภาษีตามนโยบายของรัฐบาล และกระทรวงการคลัง โดยเชิญชวนให้ผู้ประกอบการที่เป็นบุคคลธรรมดา เข้ามาจดทะเบียนจัดตั้งเป็นนิติบุคคลเพิ่มขึ้น มีการแนะนำให้จัดทำบัญชีชุดเดียวพร้อมเสริมความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการเข้าสู่ระบบ National e-Payment โดยครั้งนี้ได้เชิญผู้ประกอบการร้านขายยาที่เป็นสมาชิกสมาพันธ์พัฒนาคุณภาพร้านยาแห่งประเทศไทย (ประกอบด้วย สมาคมร้านขายยา สมาคมเภสัชกรรมชุมชน (ประเทศไทย) และชมรมร้านขายยา) ซึ่งมีสมาชิกทั่วประเทศจำนวน 21,318 ราย (แยกเป็นผู้ประกอบการที่เป็นบุคคลธรรมดา ร้อยละ 90 และเป็น Chain Store อีกร้อยละ 10) เข้ามาจดทะเบียนเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล โดยกรมสรรพากรได้ประชุมหารือกับสมาพันธ์ ฯ เพื่อวางแนวทางแก้ไขปัญหาให้ร้านขายยาเปลี่ยนผ่านสู่นิติบุคคลไว้ ดังนี้
1. ด้านการประสานงานกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) โดยกรมสรรพากรจะนัดประชุมกับ อย. ในปลายเดือนกันยายน 2559 เพื่อแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการโอนใบอนุญาตใบประกอบจากบุคคลธรรมดาไปสู่นิติบุคคล การพัฒนาระบบ e–Signature เพื่อรองรับการรับข้อมูลรายงานแบบ e-filing เกี่ยวกับรายงานควบคุมบัญชียา ซึ่งต้องลงลายมือชื่อของเภสัชกรกำกับไว้ในรายงานด้วย การกำหนดรหัสยาที่เป็นมาตรฐานเพื่อการควบคุมและออกรายงานตามที่ต้องการ และความร่วมมือกับ อย. ในการจัดสัมมนาให้ความรู้แก่ร้านขายยาทั่วประเทศ
2. การประชุมร่วมกับผู้ผลิตซอฟต์แวร์เฮาส์และสมาคมร้านขายยา เพื่อร่วมกันกำหนด ความต้องการของผู้ใช้งาน (Requirement) ให้ผู้ผลิตซอฟต์แวร์เฮาส์พัฒนาโปรแกรมบันทึกการขายยาและโปรแกรมบัญชีทางการเงินรวมเหลือเพียงโปรแกรมชุดเดียว และให้มีระบบแจ้งเตือนการควบคุมเรื่อง การหมดอายุของยา และแจ้งเตือนเมื่อมีการจ่ายยาบางประเภทที่ไม่สามารถจ่ายยาร่วมกันได้
โดยเมื่อเร็ว ๆ นี้ รัฐบาลได้ออกมาตรการสนับสนุนการเป็นผู้ประกอบการนิติบุคคล เพื่อลดภาระในการเปลี่ยนผ่านจากบุคคลธรรมดาเป็นนิติบุคคล โดยจะต้องจดทะเบียนจัดตั้งเป็นนิติบุคคลภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2560 ซึ่งจะได้รับสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ได้แก่ ยกเว้นภาษีทางตรงและทางอ้อมสำหรับการโอนอสังหาริมทรัพย์และสินทรัพย์ใดๆ หักรายจ่ายค่าจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคล ค่าทำบัญชี และค่าสอบบัญชี ได้ 2 เท่า (เฉพาะนิติบุคคลที่มีทุนจดทะเบียนแล้วไม่เกิน 5 ล้านบาทและรายได้ไม่เกิน 30 ล้านบาท/รอบบัญชี) ได้ลดการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนโอนอสังหาริมทรัพย์และห้องชุดจากร้อยละ 2.00 เหลือเพียงร้อยละ 0.01 การโอนใบอนุญาตในการประกอบกิจการของบุคคลธรรมดาให้แก่นิติบุคคลที่ตั้งขึ้นใหม่ได้ และได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมในการเปลี่ยนวงเงินกู้ที่ได้รับอนุมัติแล้ว เป็นต้น
อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวเพิ่มเติมว่า “สำหรับความคืบหน้าในการขยายฐานภาษีกับกลุ่มผู้ประกอบการค้าทองคำ กรมสรรพากรได้จัดการประชุมร่วมกับสมาคมค้าทองคำ สมาคมธุรกิจทองคำ ชมรมผู้ค้าปลีกทองคำแห่งประเทศไทย และผู้ผลิตโปรแกรมบัญชีสำเร็จรูป ซึ่งได้ร่วมกันสนับสนุนให้ผู้ประกอบ ร้านทองที่เป็นบุคคลธรรมดาทั่วประเทศ จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล และมีการจัดสัมมนาให้ความรู้ความเข้าใจในแนวทางปฏิบัติที่ถูกต้องแก่สมาชิกทั่วประเทศ ทั้งนี้ กรมสรรพากรได้แจ้งให้สำนักงานสรรพากรพื้นที่ ทั่วประเทศ ให้ความร่วมมือกับชมรมผู้ค้าปลีกทองคำฯ และจัดเจ้าหน้าที่ไปร่วมเป็นวิทยากรบรรยายตามที่ ร้องขอ โดยให้ถือว่าเป็นงานที่มีความสำคัญเร่งด่วน ซึ่งรวมถึงการจัดสัมมนาให้ความรู้กับผู้ประกอบการ ในกลุ่มธุรกิจอื่นๆ ด้วย”
อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวในตอนท้ายว่า“ สำหรับแผนงานการขยายฐานภาษีในระยะต่อไป จะให้ความสำคัญกับธุรกิจการท่องเที่ยว และกิจการที่เกี่ยวเนื่อง ได้แก่ ธุรกิจนำเที่ยว โรงแรม ภัตตาคาร ร้านอาหาร นายหน้ารับจองที่พัก ธุรกิจให้เช่ารถนำเที่ยว ร้านขายของที่ระลึก ธุรกิจนันทนาการและธุรกิจ เพื่อความบันเทิง ซึ่งขณะนี้มีการรวบรวมข้อมูลในเบื้องต้นและได้ประสานงานเป็นการภายใน กับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยแล้ว”
ข่าวเด่น