ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ก.แรงงานปรับปรุงกม.ขยายอายุจ้างแรงงานผู้สูงอายุเป็น 60 ปี


 


ปลัดกระทรวงแรงงาน ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์และนโยบายการขยายอายุการจ้างแรงงานผู้สูงวัยในสถานประกอบการ กับมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสถานประกอบการ จำนวน 11 แห่ง นำร่องการจ้างงานผู้สูงอายุ ตั้งเป้าปีนี้ส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีงานทำรวมกว่า 2,000 คน

หม่อมหลวงปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธานเปิดงานการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์และนโยบายการขยายอายุการจ้างแรงงานผู้สูงวัยในสถานประกอบการ และปาฐกถาพิเศษ ‘แรงงานสูงวัยพลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ’ ณ โรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการและคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์(เมื่อ 7 ก.ย.) โดยกล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) ซึ่งตามเกณฑ์ขององค์การสหประชาชาติ ประเทศที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปเกินกว่าร้อยละ 10 ของประชากรทั้งประเทศจะถูกจัดเป็นสังคมผู้สูงอายุ ปัจจุบันประเทศไทยมีประชากรรวมทั้งสิ้นประมาณ 64.8 ล้านคน เป็นผู้สูงอายุประมาณ 10 ล้านคนเศษ คิดเป็นร้อยละ 14.9 ของประชากรรวม
 
สำหรับในปี 2564 มีการคาดประมาณว่า ประเทศไทยจะมีผู้สูงอายุประมาณร้อยละ 20 ซึ่งจะทำให้เป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ (Aging Society) และในปี 2578 ผู้สูงอายุในประเทศจะมีประมาณร้อยละ 30 และจะถูกจัดเป็นสังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอด (Super Aged Society) นอกจากนี้ประเทศไทยยังเป็นประเทศที่ก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างรวดเร็วเป็นอันดับที่ 2 ของภูมิภาคเอเชีย รองจากประเทศสิงคโปร์ โดยมีประเทศบรูไน และเวียดนามอยู่ในอันดับ 3 และ 4 ตามลำดับ

สังคมผู้สูงอายุของประเทศไทยเกิดขึ้นพร้อมกับสถานการณ์แนวโน้มการขาดแคลนแรงงาน เนื่องจากวัยแรงงานที่เข้าสู่ตลาดแรงงานมีแนวโน้มลดลง การรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าว จึงต้องคำนึงถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นกับผู้สูงอายุและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะมีผลต่อการจัดสวัสดิการต่างๆ ของภาครัฐที่เพิ่มขึ้น สำหรับภาคเอกชน โดยเฉพาะสถานประกอบการที่ใช้แรงงานจำนวนมากจะต้องหาวิธีการปรับตัว เพื่อรับมือกับผลกระทบจากการขาดแคลนแรงงาน ซึ่งอาจจะพึ่งพาเทคโนโลยีให้มากขึ้นหรือการจ้างแรงงานที่มีอยู่เดิมต่อเนื่องไปแม้จะสูงวัยแล้ว

 
อย่างไรก็ตามรัฐบาลได้เล็งเห็นว่า “ผู้สูงวัย” ถือเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณค่า เพราะได้สะสมความรู้ ทักษะ และประสบการณ์ในการทำงานมาอย่างยาวนาน ผู้สูงอายุจำนวนมากมีความถึงพร้อมซึ่งวัยวุฒิ และคุณวุฒิ รวมทั้งยังมีสุขภาพที่แข็งแรงสมบูรณ์ หากได้ถ่ายทอดประสบการณ์ไปยังคนรุ่นหลังก็จะสามารถสร้างประโยชน์ให้แก่สังคมได้เป็นอย่างมาก จึงควรจะส่งเสริมให้ผู้สูงอายุเหล่านี้อยู่ในตลาดแรงงานยาวนานกว่าเดิม ซึ่งนอกจากจะทำให้มีรายได้ พึ่งพาตนเอง ยังช่วยรักษาแรงงานที่มีคุณภาพให้คงอยู่ในตลาดแรงงานต่อไป และช่วยให้สถานประกอบการได้แรงงานที่มีทักษะ ประสบการณ์ อยู่ร่วมในการทำงาน มีผลประกอบการเป็นไปตามเป้าหมาย มีข้อมูลบ่งชี้ว่าแรงงานสูงอายุจำนวนไม่น้อย มีส่วนร่วมอยู่ในตลาดแรงงานจำนวนถึง 148,478 คน คิดเป็นร้อยละ 1.42 ของแรงงานในสถานประกอบการทั้งหมด จึงมีบทบาทในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ หากผู้สูงอายุยังประสงค์ทำงานต่อเนื่อง และสถานประกอบการยังคงจ้างต่อ ก็จะสามารถทำให้นโยบายส่งเสริมการจ้างงานผู้สูงอายุไปสู่การปฏิบัติได้ตามเป้าหมายที่กำหนด
 
 
เป็นที่น่ายินดี ที่วันนี้ ได้แสดงให้เห็นว่านโยบายดังกล่าวสามารถขับเคลื่อนไปสู่การปฏิบัติได้จริง ด้วยความร่วมมือของสถานประกอบการที่เป็นนายจ้าง และด้วยการประสานพลังของภาคประชาสังคม ได้แก่ มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กับหน่วยงานภาครัฐ คือ กระทรวงแรงงาน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย และสถานประกอบการ จำนวน 16 แห่ง ได้มาแสดงเจตจำนงค์ ร่วมจ้างแรงงานสูงวัยต่อเนื่อง เป็นการแสดงความมุ่งมั่นที่จะร่วมมือกันดำเนินการ โดยจัดทำบันทึกข้อตกลงจ้างแรงงานสูงวัยของสถานประกอบการทั้ง 16 แห่งในวันนี้ จะได้เป็นต้นแบบ ในการขยายผลไปสู่สถานประกอบการอื่น ๆ ให้กว้างขวางและทั่วถึงขึ้น ขอขอบคุณ ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายที่ช่วยกันผลักดันให้เกิดการจ้างแรงงานสูงวัยในครั้งนี้เป็นอย่างยิ่ง
 

หม่อมหลวงปุณฑริกฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงแรงงาน ได้พัฒนาปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง จำนวน 2 ฉบับ คือ พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน และพระราชบัญญัติประกันสังคม เพื่อรองรับการจ้างงานผู้สูงอายุ โดยการขยายอายุเกษียณจาก 55 ปี เป็น 60 ปีในระยะแรก การคุ้มครองการทำงาน และสิทธิประโยชน์ต่างๆ ซึ่งคาดว่าร่างแก้ไขจะแล้วเสร็จในเดือนตุลาคมนี้ รวมไปถึงได้มีการเปิดศูนย์หางานให้ผู้พิการและผู้สูงอายุในกระทรวงแรงงานและหน่วยงานสังกัดทั่วประเทศ นอกจากนี้คณะกรรมการค่าจ้างยังมอบหมายให้อนุกรรมการวิชาการและกลั่นกรอง พิจารณาอัตราค่าจ้างรายชั่วโมงสำหรับผู้สูงอายุมาเสนออีกครั้ง โดยตั้งเป้าหมายส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีงานทำรวมกว่า 2,000 คนในปีนี้ ซึ่งจะประสบผลสำเร็จได้จะต้องอาศัยความร่วมมือจากผู้ประกอบการด้วย
 
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 08 ก.ย. 2559 เวลา : 07:30:55

22-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 22, 2024, 2:13 am