ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
กพร. โชว์เทคโนโลยีรีไซเคิลทองคำจากขยะอิเล็กทรอนิกส์


 


กพร. โชว์เทคโนโลยีรีไซเคิลทองคำจากขยะอิเล็กทรอนิกส์ ตั้งเป้าลดการใช้สารไซยาไนด์ในภาคอุตสาหกรรมรีไซเคิล

กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ตั้งเป้าลดการใช้สารไซยาไนด์ในกระบวนการผลิต ในภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ  โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการรีไซเคิลโลหะมีค่าจากขยะอิเล็กทรอนิกส์หรือในโรงงานประเภท 106 ที่พบว่า มีการใช้สารไซยาไนด์ในกระบวนการสกัดโลหะมีค่าสูงถึง 1,500 ตันต่อปี โดย กพร. ได้คิดค้น “เทคโนโลยีการรีไซเคิลทองคำบริสุทธิ์จากขยะอิเล็กทรอนิกส์ โดยไม่ใช้สารไซยาไนด์” เพื่อเป็นทางเลือกหนึ่งให้แก่ผู้ประกอบการ พร้อมตั้งเป้าพัฒนาให้เทคโนโลยีดังกล่าว ช่วยลดต้นทุนการปฏิบัติการ ลดระยะเวลาในการสกัด เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและปลอดภัยต่อผู้ปฏิบัติงานสูงสุด ซึ่งเชื่อมั่นว่า หากมีการใช้เทคโนโลยีดังกล่าวในกระบวนการรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างแพร่หลายจะช่วยลดการใช้สารไซยาไนด์ซึ่งเป็นอันตรายต่อผู้ปฏิบัติงานและสิ่งแวดล้อมได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ตลอดจนเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการลดปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทย

นายชาติ หงส์เทียมจันทร์ อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กล่าวว่า ไซยาไนด์เป็นสารเคมีที่ใช้ในหลายอุตสาหกรรม โดยแต่ละปีทั่วโลกมีการผลิตไซยาไนด์ไม่น้อยกว่า 1.1 ล้านตัน ซึ่งถูกใช้ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น การผลิตพลาสติก ไนลอน กาว สารทนไฟ เครื่องสำอาง ยารักษาโรค และมากกว่า ร้อยละ 6 ถูกใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตโลหะทองคำ  โดยใช้เป็นสารในการสกัดทองคำจากสินแร่และขยะหรือของเสียที่มีทองคำเป็นองค์ประกอบ เนื่องจากไซยาไนด์เป็นสารเคมีที่มีประสิทธิภาพในการละลายทอง และมีต้นทุนที่ต่ำ  แต่อย่างไรก็ตาม ไซยาไนด์ก็เป็นสารเคมีที่มีความเป็นพิษสูงแบบเฉียบพลัน  ฉะนั้นผู้ประกอบการที่ใช้สารดังกล่าวในกระบวนการผลิตจำเป็นต้องมีการจัดการที่ดี  ตั้งแต่กระบวนการขนย้าย การใช้ในปริมาณที่เหมาะสม เพื่อให้เกิดของเสียที่มีไซยาไนด์ปนเปื้อนน้อยที่สุด ไปจนถึงการกำจัดของเสียที่เกิดจากกระบวนการผลิตอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ  
 
 
 
นายชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า เนื่องจากไซยาไนด์มีคุณสมบัติในการละลายโลหะมีค่าจากสินแร่ต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ  จึงพบการใช้สารไซยาไนด์ในอุตสาหกรรมรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์ หรือในโรงงานประเภท 106 ที่รับชิ้นส่วนขยะอิเล็กทรอนิกส์เพื่อสกัดเอาโลหะมีค่า อาทิ ทองคำ เงิน เป็นต้น  ซึ่งจะพบมากในชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ อาทิ  ซีพียู  แรม  แผ่นวงจรและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์โทรศัพท์มือถือ  โดยคาดว่ากว่าร้อยละ 90 ของโรงงานประเภทดังกล่าวใช้สารไซยาไนด์ในกระบวนการรีไซเคิล  ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีจำนวนโรงงานประเภทดังกล่าวกว่า 20 ราย ส่งผลให้ปริมาณการใช้ไซยาไนด์ในอุตสาหกรรมดังกล่าวต่อปีสูงถึง 1,500 ตัน และคาดว่าจะมีปริมาณที่สูงขึ้นตามปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่เพิ่มปริมาณขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ล่าสุด กพร. ได้จัดโครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการหัวข้อ “เทคโนโลยีการรีไซเคิลทองคำบริสุทธิ์จากขยะอิเล็กทรอนิกส์ โดยไม่ใช้สารไซยาไนด์” เพื่อเป็นทางเลือกหนึ่งให้แก่ผู้ประกอบการโรงงานประเภท 106 เนื่องจากผลลัพธ์ที่ได้มีคุณภาพและความบริสุทธิ์ของทองคำเท่าเทียมกับการใช้สารเคมีอันตราย  แต่มีความสะดวกและปลอดภัยมากกว่า  
 
 
ซึ่ง กพร. ได้มุ่งมั่นในการพัฒนาเทคโนโลยีดังกล่าวให้สามารถตอบโจทย์ทุกความต้องการของผู้ประกอบการ  ทั้งลดต้นทุนการปฏิบัติการ  ลดระยะเวลาในการสกัด  ตลอดจนพัฒนาให้เทคโนโลยีดังกล่าวเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและปลอดภัยต่อผู้ปฏิบัติงานสูงสุด เพื่อกระตุ้นให้ผู้ประกอบการลดใช้สารไซยาไนด์  ซึ่งเชื่อมั่นว่าหากมีการใช้เทคโนโลยีดังกล่าวในกระบวนการรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์จะช่วยลดการใช้สารไซยาไนด์ซึ่งเป็นอันตรายต่อผู้ปฏิบัติงานและสิ่งแวดล้อมได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ตลอดจน   เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการลดปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทย  ที่ปัจจุบันมีสูงถึง 376,801 ตัน เป็นปริมาณรวมจากซากผลิตภัณฑ์เพียง 8 ชนิด ได้แก่ โทรทัศน์ เครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น เครื่องซักผ้า คอมพิวเตอร์ เครื่องเล่นวีซีดี/ดีวีดี โทรศัพท์มือถือ และกล้องถ่ายรูปดิจิทัล  ซึ่งยังไม่รวมขยะอิเล็กทรอนิกส์ประเภทเครื่องจักรขนาดใหญ่จากโรงงานอุตสาหกรรมซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตามความต้องการใช้งานของผู้บริโภคยุคปัจจุบัน นายชาติ กล่าว
 

อย่างไรก็ตาม การปฏิบัติงานรีไซเคิลทองคำจากขยะอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าวต้องอยู่ภายใต้การกำกับดูแลหรือให้คำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านอย่างใกล้ชิด เนื่องจากสารเคมีบางชนิดต้องใช้ในปริมาณที่เหมาะสม และใช้อย่างถูกวิธี  โดยชิ้นส่วนขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ผ่านกระบวนการลอกทองแล้วสามารถนำไปหลอมถลุงเป็นโลหะผสม หรือนำไปจำหน่ายให้กับผู้รับซื้อและห้ามทิ้งหรือปล่อยน้ำยาลอกทองที่ใช้แล้วลงสู่สิ่งแวดล้อมโดย ไม่ผ่านการบำบัดอย่างถูกวิธีโดยเด็ดขาด  หากมีปริมาณมากควรส่งกำจัดกับผู้ประกอบการที่รับกำจัดหรือบำบัดของเสียดังกล่าวเท่านั้น นายชาติ กล่าวทิ้งท้าย
 

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กระทรวงอุตสาหกรรม ถนนพระรามที่ 6 กรุงเทพฯ โทรศัพท์ 0 2202 3555 หรือเข้าไปที่ www.dpim.go.th 
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 08 ก.ย. 2559 เวลา : 10:52:45

22-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 22, 2024, 2:57 am