ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ก.แรงงาน จับมือ 5 พันธมิตร ทำ MOU พัฒนาศักยภาพแรงงานด้านโลจิสติกส์


 


ก.แรงงาน จับมือ 5 พันธมิตร สมาคมไทยโลจิสติกส์ฯและมหาวิทยาลัยชั้นนำ จัดทำ MOU สร้างความร่วมมือในการพัฒนาฝีมือแรงงานด้านโลจิสติกส์ ผลักดันการจัดตั้งศูนย์มาตรฐานทดสอบฝีมือแรงงานแห่งชาติ และพัฒนาศักยภาพแรงงาน เพื่อป้อนเข้าสู่ตลาดแรงงาน พร้อมรับไทยแลนด์ 4.0

หม่อมหลวงปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการด้านการพัฒนาบุคลากรด้านโลจิสติกส์ ระหว่างกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา มหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยราชมงคลตะวันออก จักรพงษ์ภูวนาท มหาวิทยาลัยศรีปทุม และสมาคมไทยโลจิสติกส์และการผลิต เพื่อพัฒนากำลังแรงงานด้านโลจิสติกส์ ให้ได้ค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือและเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน ณ ห้องประชุมปกรณ์ อังศุสิงห์ ชั้น 10 อาคารกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน

ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า “อุตสาหกรรมโลจิสติกส์และซัพพลายเชนมีส่วนสำคัญ ในการพัฒนาประเทศ เพื่อเข้าสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 โดยรัฐบาลได้กำหนดให้อุตสาหกรรมนี้  เป็น 1 ใน 10 อุตสาหกรรมกลุ่มเป้าหมายที่ต้องมีการพัฒนาตามนโยบาย New Engine of Growth และแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศไทย ฉบับที่ 2 (พ.ศ.2556 - 2560) ที่ได้กำหนดยุทธศาสตร์ในการปรับปรุงระบบการพัฒนาการและจัดการกำลังคน เพื่อสนับสนุนการสร้างความเป็นมืออาชีพและผลักดันให้มีการยกระดับมาตรฐานวิชาชีพให้แก่บุคลากรในสาขาโลจิสติกส์ โดยเฉพาะการเร่งพัฒนามาตรฐานฝีมือแรงงานและเส้นทางอาชีพเพื่อจูงใจให้แรงงานเข้ามาทำงานในอาชีพนี้ 

แต่อย่างไรก็ตาม มีผลการศึกษาเกี่ยวกับการพัฒนาบุคลากรด้านโลจิสติกส์และซับพลายเชน พบว่า ระบบโลจิสติกส์ของไทย ยังมีจุดอ่อนหลายประการ อาทิ การขาดแคลนบุคลากรมืออาชีพ การพัฒนาบุคลากรด้านโลจิสติกส์ที่เน้นปริมาณมากกว่าคุณภาพ และระบบการพัฒนาบุคลากรยังขาดโครงสร้างหลักสูตร การพัฒนาที่เป็นระบบชัดเจน ดังนั้น ความร่วมมือฯในครั้งนี้ จะเป็นส่วนสำคัญ ที่จะสร้างจุดแข็งให้กับระบบโลจิสติกส์ของไทย ด้วยการเชื่อมโยงเครือข่ายระหว่างผู้ประกอบการกับสถาบันการศึกษา การสร้างหลักสูตรการพัฒนาบุคลากรและแรงงานด้านโลจิสติกส์และการส่งเสริมให้แรงงานได้ค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงาน ซึ่งถือเป็นการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ไปพร้อมๆกัน รวมทั้งเป็นการตอบสนองต่อนโยบายรัฐบาลตามแนวทางประชารัฐ ด้วยการบูรณาการความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน ในการผลิตและพัฒนากำลังคนของประเทศ และนโยบายที่กำหนดเป้าหมายให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ในภูมิภาคอาเซียนอีกด้วย”

ที่ผ่านมากระทรวงแรงงาน โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ได้ร่วมมือกับภาคีเครือข่ายการพัฒนาแรงงานด้านโลจิสติกส์ ในการพัฒนาทักษะฝีมือก่อนป้อนเข้าสู่ตลาดแรงงาน และประกาศอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงานในสาขาอาชีพที่เกี่ยวข้องกับโลจิสติกส์ จำนวน 4 สาขา ได้แก่ สาขานักบริหารการขนส่งสินค้าทางถนน สาขาผู้ควบคุมรถยกสินค้าขนาดไม่เกิน 10 ตัน สาขาผู้ควบคุมสินค้าคงคลัง และสาขาผู้ปฏิบัติการคลังสินค้า และจะขยายไปสาขาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ซึ่งการดำเนินการต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน 

การจัดทำข้อความมือฯ ในครั้งนี้ กระทรวงแรงงาน สมาคมไทยโลจิสติกส์และการผลิต และมหาวิทยาลัยทั้ง 4 แห่งจะมีแนวทางการดำเนินการร่วมกัน ดังนี้ 1.) การผลักดันให้สถานศึกษาจัดตั้งศูนย์มาตรฐานทดสอบฝีมือแรงงานแห่งชาติในสาขาที่เกี่ยวข้องกับโลจิสติกส์และนำไปเป็นกรอบในการปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอน 2.) การพัฒนาบุคลากร ในหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับสาขาโลจิสติกส์และส่งเสริมให้สถานประกอบกิจการที่เป็นสมาชิกของสมาคมจ่ายค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงาน เพื่อให้ได้รับค่าจ้างที่สูงขึ้นและเป็นธรรม รวมทั้งการสร้างขวัญกำลังใจในการทำงานของแรงงาน ซึ่งจะส่งผลต่อการผลิตสินค้าและการให้บริการที่มีคุณภาพ ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี รองรับการขยายตัวของระบบเศรษฐกิจในอนาคตและก้าวไปสู่ประเทศไทย 4.0”
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 09 ก.ย. 2559 เวลา : 07:40:57

22-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 22, 2024, 3:40 am