“ปลัดพาณิชย์”ลงพื้นที่ตรวจนาแปลงใหญ่ 9-10 ก.ย.นี้ ที่จังหวัดสุรินทร์และบุรีรัมย์ ติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานและรับฟังปัญหาจากเกษตรกร
น.ส.ชุติมา บุญยประภัศร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ระหว่างวันที่ 9-10 ก.ย.2559 จะลงพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ และบุรีรัมย์ พร้อมกันนางจินตนา ชัยยวรรณาการ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และคณะ เพื่อติดตามการดำเนินงานของศูนย์ข้าวนาแปลงใหญ่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตามแผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร เพื่อรับฟังปัญหาจากเกษตรกรว่ามีอะไรติดขัดหรือต้องปรับปรุงแก้ไข รวมทั้งนำโรงสีที่จะเข้าร่วมโครงการรับซื้อผลผลิตนาแปลงใหญ่ล่วงหน้า เพื่อให้เกษตรกรได้รับประโยชน์สูงสุดจากการเข้าร่วมโครงการไปตกลงว่าจะซื้อในราคาสูงกว่าราคาตลาดตันละอย่างน้อย 200 บาท
โดยในวันที่ 9 ก.ย.2559 จะเดินทางไปพบปะกับกลุ่มเกษตรกร เพื่อเยี่ยมชมและติดตามความคืบหน้าการดำเนินการของนาแปลงใหญ่ ที่ศูนย์ข้าวชุมชนบ้านจันทร์บ่อแก อ.ชุมพลบุรี จ.สุรินทร์ จากนั้นจะไปเยี่ยมศูนย์ข้าวชุมชนนาแปลงใหญ่และเกษตรอินทรีย์บ้านโคกเมือง ต.จระเข้มาก อ.ประโคนชัย จ.บุรีรัมย์ ส่วนวันที่ 10 ก.ย.2559 จะไปเยี่ยมชมและหารือกับเกษตรกรเกี่ยวกับดอนหวายโมเดล ซึ่งเกิดจากเกษตรกรที่สามารถนำระบบ ICT มาเพิ่มรายได้ให้ครอบครัวและชุมชน และลงพื้นที่เยี่ยมนาแปลงใหญ่ด้วย
สำหรับจังหวัดสุรินทร์ มีเกษตรกรทำนาแปลงใหญ่ 19 พื้นที่ จุด ละ 244 - 5,214 ไร่ รวม 112,051 ไร่ ส่วนใหญ่ปลูกข้าวหอมมะลิ 105 และ กข 15 คาดว่าจะมีผลผลิต 44,820 ตัน และมีเกษตรกรเข้าร่วม 9,277 คน โดยในจังหวัดมีโรงสี 45 แห่ง กำลังการผลิต 14,689 ตัน/วัน
ทั้งนี้ จังหวัดสุรินทร์ เป็นพื้นที่อยู่ในเขตทุ่งกุลาร้องไห้ 2 อำเภอ คือ อ.ชุมพลบุรี และ อ.ท่าตูม พื้นที่ 575,993 ไร่ หรือร้อยละ 27.3 ของพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ ซึ่งมีพื้นที่ 2,107,690 ไร่ ใน 5 จังหวัด คือ 1) ร้อยเอ็ด 968,807 ไร่ (46.8%) 2) สุรินทร์ 3) ศรีสะเกษ 287,000 ไร่ (13.7%) 4) มหาสารคาม 193,890 ไร่ (9.2%) 5) ยโสธร 64,000 ไร่ (3%) โดยเกษตรกรใน 2 อำเภอได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นผู้ปลูกข้าวสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) แล้ว ทำให้สามารถขายข้าวหอมมะลิได้ราคาสูงกว่าข้าวหอมมะลิทั่วไป
ส่วนจังหวัดบุรีรัมย์ ได้ส่งเสริมโครงการทำนาแปลงใหญ่ ปีการผลิต 2559/60 จำนวน 16 แปลง พันธุ์ข้าวหอมมะลิ 105 และ กข.15 พื้นที่ปลูก 48,000 ไร่ คาดการณ์ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ 400 กิโลกรัม ผลผลิตรวม 19,200 ตัน
อย่างไรก็ตาม ล่าสุดจังหวัดบุรีรัมย์กำลังจะผลักดันการขึ้นทะเบียน GI “ข้าวหอมมะลิดินภูเขาไฟบุรีรัมย์” เพื่อส่งเสริมตลาดข้าวหอมมะลิจังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำคำขอ โดยครอบคลุมพื้นที่ 50,000 ไร่ ในจำนวน 7 อำเภอ ได้แก่ อำเภอประโคนชัย อำเภอเฉลิมพระเกียรติ อำเภอนางรอง อำเภอปะคำ อำเภอละหานทราย อำเภอเมืองบุรีรัมย์ และอำเภอห้วยราช ซึ่งกระทรวงพาณิชย์พร้อมที่จะให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่
“กระทรวงพาณิชย์ดำเนินงานตามแผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจรสนองนโยบายรัฐบาลในการส่งเสริม สนับสนุนให้เกษตรกรทำนาแปลงใหญ่เพื่อลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต และสามารถขายผลผลิตได้ในราคาดี” ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวในตอนท้าย
ข่าวเด่น