ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
17 ผู้ประกอบการไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ร้องผู้ตรวจการแผ่นดินตรวจสอบกกพ.


 


ตัวแทนกลุ่มผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ 17 โครงการเดือดร้อนหนัก ยื่นเรื่องร้องเรียนผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้ตรวจสอบคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กรณีเตะถ่วงการซื้อขายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ทั้งๆ ลงทุนไปกว่าสองพันล้าน เสียเวลาไปกว่า 1,500 วัน ถามใครรับผิดชอบ

นายคฑายุทธ์ เอี่ยมเล็ก กรรมการผู้จัดการ บริษัท สุริยะพลัง จำกัด ตัวแทนผู้มอบอำนาจจาก ผู้ประกอบการ 17 โครงการผลิตไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ โซนพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (จ.หนองคาย จ.บึงกาฬ และจังหวัดสกลนคร) ได้เดินทางมาที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ เพื่อยืนหนังสือร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดินโดยมี นายธาวิน อินทร์จำนงค์รองเลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน รับเรื่องร้องเรียนดังกล่าว 

นายคฑายุทธ์ กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า ผู้ประกอบการโครงการโรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ ขนาดไม่เกิน 1 เมกะวัตต์ ทั้ง 17 โครงการ ได้รับความเดือดร้อนอย่างสาหัส เนื่องจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ. หาเรื่องเตะถ่วงการซื้อกระแสไฟฟ้าที่เอกชนทำไว้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ปล่อยให้ผู้ประกอบการต้องแบกภาระหนี้สินมากกว่า 2 พันล้านบาท ศูนย์เสียดอกเบี้ยให้ธนาคารมานานกว่า 1,500 วัน เรื่องนี้เกิดขึ้นมากว่า 4 ปีแล้ว ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2555 พวกเราได้รับหนังสือการยกเลิกสัญญาฉบับแรก จาก กกพ. สาเหตุที่ กกพ.จะยกเลิกคือ การก่อสร้างโรงไฟฟ้าล่าช้า ซึ่งเราก็ได้อุทธรณ์ไปว่า เพราะติดปัญหาหลายอย่างโดยเฉพาะเรื่องแนวเขตพื้นที่ก่อสร้าง แต่การก่อสร้างก็ยังเดินหน้าต่อเนื่อง ซึ่งตอนที่ กกพ. ทำหนังสือมานั้นบางโครงการแล้วเสร็จไปแล้วกว่า 80-90% จะให้เราหยุดแล้วยกเลิกสัญญาได้ยังไง เราลงทุนไปแล้วไม่ใช่บาทสองบาท
 
 
“ในครั้งนั้นการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(กฟภ.) ฐานะคู่สัญญาและผู้ประกอบการ ได้ตั้งคณะทำงานเพื่อหาทางออกร่วมกัน โดยหลังจากตรวจสอบคณะทำงานของทั้ง 2 ฝ่ายได้ข้อสรุปว่า “ความล่าช้าในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าของทั้ง 17 โครงการ เป็นเหตุสุดวิสัย มิได้เกิดจากการจงใจ กฟภ.จึงยังไม่มีสิทธิยกเลิกสัญญาซื้อขายไฟฟ้า เป็นผลให้สัญญาซื้อขายไฟฟ้าไม่ระงับสิ้นไป และยังคงมีผลผูกพันโดยชอบด้วยกฎหมาย สมควรที่ กฟภ.และบริษัทฯ จะตกลงกำหนดวันเริ่มต้นซื้อขายไฟฟ้าใหม่ต่อไปภายหลัง”

อย่างไรก็ดีจากวันนั้นจนถึงปัจจุบัน เรื่องดังกล่าวก็ยังไม่ทีท่าว่าจะสิ้นสุด กกพ.ยังคงเตะถ่วงมีการประชุมอีกหลายครั้ง ต้องยืนยันด้วยเอกสารจำนวนมาก ทั้งๆผู้ประกอบการเองก็มีพร้อมทุกด้านที่จะขายไฟฟ้าให้ กฟภ.แต่เรื่องราวกลับไม่จบยืดเยื้อมากว่า 1,500 วันแล้วพวกเราต้องแบกรับภาระดอกเบี้ยไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาทต่อปี และที่ผิดสังเกตอย่างมากคือ กกพ.อนุญาตให้ 3 บริษัทฯ คือ 1.บจก.แม่โขง โซล่าพาวเวอร์ 2.บจก.สมภูมิโซล่าเพาเวอร์  และ 3.หจก.ภูพานเทคโนโลยี  ซึ่งอยู่ในเงื่อนไขสัญญาเดียวกันได้สิทธิ์จ่ายกระแสไฟฟ้าขายไฟฟ้าให้กับ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค กฟภ.ไปแล้ว และได้ราคาซื้อขายเดิมคือ 11 บาท (รวมค่าแอดเดอร์) ตนจึงคิดว่า กกพ.ใช้หลักอะไรมาพิจารณา แบบนี้เข้าข่าย เลือกปฏิบัติหรือไม่?  
 
 
ส่วนอีก 17 โครงการยังคงยืนอยู่บนความเดือดร้อน ยังคงรอคอยความหวังต่อไป และยิ่งไปกว่านั้นเมื่อวันที่ 3 สิงหาคมที่ผ่านมา กกพ. มีหนังสือส่งมาให้ผู้ประกอบการเซ็นหนังสือยอมรับราคาการซื้อขายไฟฟ้าในราคาต่ำลงจากสัญญาเดิมที่ทำไว้กับ กฟภ.คือ 3 บาทต่อหน่อยบวกกับ 8 บ่าทคือค่าเอดเดอร์ (ค่าจูงใจเพื่อเชิญชวนให้เอกขนมากลงทุน)รวมเป็น 11 บาทต่อหน่วย ลดลงมาเหลือประมาณ 5.377 บาทต่อหน่วย ซึ่งราคานี้พวกเรารับไม่ได้เพราะเมื่อตอนที่ลงทุนวัสดุอุปกรณ์โซล่าเซลล์ราคาสูงกว่าวันนี้กว่าเท่าตัว คณะรัฐมนตรีสมัยนั้นถึงต้องมีเงินจูงใจอุดหนุนให้ผู้ประกอบการมาลงทุนกันเยอะๆ เราลงทุนไปโรงละไม่ต่ำกว่า 130 ล้านบาท แต่พอมาถึงวันนี้ผู้ประกอบการรุ่นบุกเบิกเสี่ยงตายตามคำชวนเชื่อของรัฐบาลต้องมาเป็นหนี้เป็นสินด้วยราคาที่เป็นไปไม่ได้ 5 บาทต่อหน่วยส่งดอกเบี้ยยังไม่พอเลย นายคฑายุทธ์ กล่าว
 
 
นายคฑายุทธ กล่าวต่อไปว่าที่มาร้องเรียนผู้ตรวจการวันนี้ เพื่อขอให้ท่านช่วยตรวจสอบใน 3 ประเด็นดังนี้
 1.อยากให้ผู้ตรวจการแผ่นดิน ตรวจสอบอำนาจหน้าที่ของ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ. ว่ามีหน้าที่หรืออำนาจกำกับดูแลโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนที่มีกำลังผลิตไม่เกิน 1 เมกกะวัตต์หรือไม่? เนื่องจากในพระราชกฤษฎีกา ระบุไว้ว่างการผลิตไฟฟ้าทั้ง 17 โครงการนั้น  “เป็นกิจการพลังงานที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องขอรับใบอนุญาตการประกอบกิจการพลังงาน ตามพระราชกฤษฎีกา กำหนดประเภท ขนาด และลักษณะของกิจการพลังงานที่ได้รับยกเว้นฯ ประกาศใช้เมื่อ 1 มิถุนายน 2552” พวกเราจึงไม่แน่ใจว่า กกพ.มีหน้าที่ควบคุมหรือวางระเบียบอะไรต่อมิอะไรกับพวกเรามากมายขนาดนี้เลยเหรอ ทั้งๆที่ ไม่ใช่คู่สัญญาของเรา ขนาดคู่สัญญาของเรา กฟภ.ยังเอือมระอากับบทบาทของ กกพ. 

2. เหตุใด 3 โครงการของ บจก.แม่โขง โซล่าพาวเวอร์ บจก.สมภูมิโซล่าเพาเวอร์  และหจก.  ภูพานเทคโนโลยี ได้สิทธิ์จ่ายกระแสไฟฟ้าขายให้ กฟภ.แล้ว  ทั้งๆ ที่มีคุณสมบัติเหมือนกับ 17 โครงการของพวกเรา กกพ.ยังไม่พิจารณา ตรงนี้ถือว่าเป็นการเลือกปฏิบัติหรือไม่? 

3. เลขาธิการ กกพ.ได้ทำหนังสือถึงผู้ประกอบการ ลงวันที่ 3 สิงหาคม 2559 เรื่องแจ้งเงื่อนไขประกอบการออกใบแจ้งการประกอบกิจการพลังงานที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องขอรับใบอนุญาต พร้อมแนบบันทึกรับรองการปฏิบัติตามเงื่อนไข การรับแจ้งการประกอบกิจการพลังงานที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องขอรับใบอนุญาต ซึ่งมีเนื้อความระบุเงื่อนไขให้บริษัทต้องยอมรับราคาอัตราค่าซื้อขายไฟฟ้า ที่ไม่เป็นไปตามเจตนาของการทำสัญญา พร้อมให้บริษัทสละสิทธิ์ในการฟ้องร้องหรือเรียกค่าเสียหายใดๆกับ กกพ. ตรงนี้ถือเป็นการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของพวกเราหรือไม่?

นายคฑายุทธ์ เอี่ยมเล็ก กรรมการผู้จัดการ บริษัท สุริยะพลัง จำกัด กล่าวทิ้งท้าย วันนี้จำเป็นต้องมาขอความเป็นธรรมจากสำนักงานตรวจการแผ่นดิน เพื่อและช่วยตรวจสอบว่าเหตุใดจึงมีความไม่ชัดเจน ล่าช้า ยืดเยื้อ เลือกปฏิบัติ หวังว่าจะได้รับความยุติธรรมบ้างครับ 

 
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 09 ก.ย. 2559 เวลา : 10:00:27

22-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 22, 2024, 3:28 am