ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
7เดือนปีนี้ยอดการใช้น้ำมันทั้งเบนซินและดีเซลพุ่งเหตุราคาน้ำมันลดลง


 


นายวิฑูรย์ กุลเจริญวิรัตน์ อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน เปิดเผย  ภาพรวมการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงในช่วง 7 เดือนแรก(ม.ค.-ก.ค.) ของปี 2559 ว่า ปริมาณการใช้น้ำมันของกลุ่มน้ำมันเบนซินอยู่ที่ 6,103.06 ล้านลิตร หรือ 28.66 ล้านลิตรต่อวัน เพิ่มขึ้น 10.76% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 5,487.82 ล้านลิตร หรือ 25.88 ล้านลิตรต่อวัน ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นของน้ำมันกลุ่มเบนซินเกือบทุกชนิดยกเว้นน้ำมันเบนซินและน้ำมันแก๊สโซฮอล์ อี85 เนื่องจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลง เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนส่งผลให้ประชาชนหันมาใช้ส่วนบุคคลเพิ่มมากขึ้น

ในส่วนนี้เป็นการใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91 เพิ่มขึ้น 2.28% มาอยู่ที่ระดับ 2,388.08 ล้านลิตร หรือ 11.22 ล้านลิตรต่อวัน จากช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 2,325.30 ล้านลิตร หรือ 10.96 ล้านลิตรต่อวัน การใช้แก๊สโซฮอล์ 95 เพิ่มขึ้น 22.24 % มาอยู่ที่ 2,243.32 ล้านลิตร หรือ 10.53 ล้านลิตรต่อวัน เทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 1,827.65 ล้านลิตร หรือ 8.62 ล้านลิตรต่อวัน แก๊สโซฮฮล์ อี 20 มีการใช้เพิ่มขึ้น 17.47 % มาอยู่ที่ 1,007.06 ล้านลิตร หรือ 4.73 ล้านลิตรต่อวัน เทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 853.60 ล้านลิตร หรือ 4.03 ล้านลิตรต่อวัน 
          
ส่วนแก๊สโซฮอล์ อี 85 ปรับตัวลดลง 4.14 % มาอยู่ที่ 180.54 ล้านลิตร หรือ 0.85 ล้านลิตรต่อวัน เทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 187.72 ล้านลิตร หรือ 0.88 ล้านลิตรต่อวัน และน้ำมันเบนซิน ปรับตัวลดลง 3.60 % มาอยู่ที่ 284.08 ล้านลิตร หรือ 1.33 ล้านลิตรต่อวัน เทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 293.56 ล้านลิตร หรือ 1.38 ล้านลิตรต่อวัน   

การใช้น้ำมันดีเซล ปรับตัวเพิ่มขึ้น 4.26% มาอยู่ที่ 13,158.11 ล้านลิตร หรือ 61.76 ล้านลิตรต่อวัน เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนมียอดใช้อยู่ที่ 12,558.17 ล้านลิตร หรือ 59.25 ล้านลิตรต่อวัน ซึ่งเป็นผลมาจากปริมาณรถยนต์ดีเซลมีปริมาณเพิ่มขึ้น และราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลง เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน          
         
ยอดการใช้ก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ในช่วง 7 เดือนแรก ปรับตัวลดลง 12.34% มาอยู่ที่ 3,441.23 ล้านกิโลกรัมต่อวัน หรือ 16.16 ล้านกิโลกรัมต่อวัน เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 3,912.78 ล้านกิโลกรัม หรือ 18.43 ล้านลิตรต่อวัน ซึ่งปริมาณการใช้ LPG ที่ลดลงดังกล่าว ส่วนใหญ่มาจากความต้องการใช้ในภาคขนส่งและภาคปิโตรเคมีลดลงจากการเปลี่ยนไปใช้เชื้อเพลิงชนิดอื่นแทนประกอบกับการผลิต LPG ในประเทศมีการผลิตที่เพียงพอไม่มีความจำเป็นต้องนำเข้าในปริมาณที่สูงเหมือนปีก่อน ซึ่งในช่วง  7เดือนแรกมีการนำเข้า LPG เพียง 40 ล้านกิโลกรัมต่อเดือน หรือลดลง 62.62% เทียบจากปีก่อนนำเข้าที่ 108 ล้านกิโลกรัมต่อเดือน  โดยพบว่าความต้องการใช้ของภาคครัวเรือนลดลง 0.40 % มาอยู่ที่  1,215.66 ล้านกิโลกรัม หรือ 5.68 ล้านกิโลกรัมต่อวัน ภาคขนส่ง ปรับตัวลดลงถึง 16.32 % มาอยู่ที่ 876.89 ล้านกิโลกรัม หรือ 4.10 ล้านกิโลกรัมต่อวัน รวมถึงภาคปิโตรเคมี ปรับตัวลดลง 24.10 % มาอยู่ที่ 1,006.69 ล้านกิโลกรัม หรือ 4.73 ล้านกิโลกรัมต่อวัน ซึ่งจะมีเพียงภาคอุตสาหกรรมเท่านั้นที่ปรับตัวสูงขึ้น 2.99 % มาอยู่ที่ 351.67 ล้านกิโลกรัม หรือ 1.65 ล้านกิโลกรัมต่อวันเท่านั้น

ปริมาณการใช้ก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (NGV) ในช่วง 7 เดือน  ปรับตัวลดลง 9.20% มาอยู่ที่ 1,682.92 ล้านกิโลกรัม หรือ 7.90 ล้านกิโลกรัมต่อวัน เทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 1,844.86 ล้านกิโลกรัม หรือ 8.70 ล้านกิโลกรัมต่อวัน ซึ่งเป็นผลจากราคาน้ำมันปรับตัวลดลงส่งผลให้ประชาชนและรถบรรทุกสินค้าหันไปใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่มสูงขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันกับปีก่อน
          
สำหรับการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2559 ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 3.85% เฉลี่ยอยู่ที่ 916,412 บาร์เรล/วัน เป็นผลจากการนำเข้าน้ำมันดิบลดลง 4.69% เฉลี่ยอยู่ที่ 846,729 บาร์เรล/วัน คิดเป็นมูลค่า 37,226 ล้านบาท/เดือน  ส่วนการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปเพิ่มขึ้น 7.70% เฉลี่ยอยู่ที่ 69,683 บาร์เรล/วัน มูลค่าการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูป เพิ่มขึ้น 4.04% คิดเป็นมูลค่า 3,763 ล้านบาท/เดือน สำหรับปริมาณการส่งออกน้ำมันสำเร็จรูป ลดลง 47.15% เฉลี่ยอยู่ที่ 157,272 บาร์เรล/วัน และมูลค่าส่งออก ลดลง 45.17% คิดเป็นมูลค่า 7,289 ล้านบาทต่อเดือน ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นของน้ำมันเบนซินและน้ำมันดีเซล

 

LastUpdate 09/09/2559 12:07:29 โดย : Admin

22-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 22, 2024, 3:55 am