นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่าทูตพาณิชย์ทั่วโลก ได้ร่วมกันประเมินสถานการณ์การส่งออกในปีนี้ ซึ่งในภาพรวมคาดว่าน่าจะดีกว่าปีที่แล้วเล็กน้อย โดยขยายตัวที่ร้อยละ 0.3 เป็นผลจากเศรษฐกิจโลกที่ยังคงขยายตัวอย่างเปราะบาง และราคาน้ำมันที่ยังอยู่ในระดับต่ำ (คาดการณ์ตลาดหลัก ได้แก่ จีน +1.0% สหรัฐฯ +1.0% ออสเตรเลีย +5% ตะวันออกกลาง +2.4%) โดย IMF ได้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจโลกเป็นร้อยละ 3.1 (จากเดิมร้อยละ 3.2) จึงยังต้องติดตามในหลายประเด็นอย่างใกล้ชิดทั้ง ผลกระทบต่อเนื่องจาก BREXIT การขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ FED และการเลือกตั้งของสหรัฐฯ ที่กำลังจะเกิดขึ้น และผลกระทบจากการก่อ การร้าย/ภัยธรรมชาติ อย่างไรก็ดี ส่วนแบ่งตลาด (Market Share) ของไทยในตลาดส่งออกสำคัญส่วนใหญ่ยังอยู่ในเกณฑ์ดี
สำหรับในปี 2560 คาดว่าการส่งออกน่าจะพลิกฟื้นขยายตัวได้ร้อยละ 3.0 จากภาวะเศรษฐกิจโลกในปีหน้าที่มีแนวโน้มจะฟื้นตัว (เป้าตลาดหลัก ได้แก่ อาเซียน +2.5% CLMV +4.6% จีน +3.0% สหรัฐฯ +3.0% ญี่ปุ่น +1.0% EU +1.0% ฮ่องกง +2% รัสเซียและ CIS +12.4%) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มประเทศ Emerging Market ที่เป็นตลาดเป้าหมายของไทย (IMF คาดการณ์เศรษฐกิจโลกปี 2560 +3.4% อาเซียน +5.1% อินเดีย +7.4%) และจากการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายต่างๆ ในปีนี้จำนวนมาก ซึ่งน่าจะส่งผลดีต่อการส่งออกและเห็นผลชัดเจนในปีหน้า ตลอดจน ราคาน้ำมันที่ค่อยๆ เพิ่มขึ้นส่งผลกระทบต่อมูลค่าสินค้าที่เกี่ยวเนื่องและกำลังซื้อของตลาดตะวันออกกลางที่น่าจะกลับมา
ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดการบูรณาการเร่งรัดผลักดันการส่งออกของกระทรวงทั้งส่วนกลางและต่างประเทศมีประสิทธิภาพและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ได้มอบนโยบาย “พาณิชย์ 4.0” ซึ่งกำหนดวิสัยทัศน์ “ฉับไว โปร่งใส มองไกล ใกล้ประชาชน” โดยในระยะเริ่มแรกจะเน้นการปฏิรูปการค้า อาทิ การแก้ไขปัญหาอุปสรรคการส่งออก การส่งเสริมภาคธุรกิจบริการ การใช้ช่องทาง E-Commerce เป็นต้น ตลอดจนได้ปรับกลยุทธ์เร่งรัดผลักดันการส่งออกในแต่ละภูมิภาค ได้แก่
1. ผลักดันเป็นรายคลัสเตอร์เชื่อมโยงสินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องทั้ง supply chain ใช้โอกาสจาก Event ระดับโลก ธุรกิจก่อสร้าง สุขภาพและความงาม ธุรกิจ Digital Content (Animation ภาพยนตร์) มุ่งตลาดอาเซียน เอเชียตะวันออก ยุโรป ตะวันออกกลางและเอเชียใต้
2. ขับเคลื่อนความสัมพันธ์ทางการค้า การลงทุนและการท่องเที่ยว ผ่านกลยุทธ์ Strategic Partnership เพื่อให้เป็น Springboard ในการขยายลู่ทางไปยังประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค อาทิ เมียนมา (อาเซียน) อินเดีย (เอเชียใต้) สหรัฐฯ (อเมริกา+ลาติน) อังกฤษ (สหภาพยุโรป) รัสเซีย + คาซักสถาน (ยุโรปตะวันออก) ญี่ปุ่น+จีน (เอเชียตะวันออก)
3. ใช้กลยุทธ์ Less for More เน้นสินค้า margin สูง เจาะตลาดกลุ่มใหม่ที่มีกำลังซื้อสูงซึ่งเป็นเทรนด์ร่วมที่เกิดขึ้นในหลายภูมิภาค ผ่านช่องทางการตลาดใหม่ๆ ที่ Customized อาทิ Metrosexual LGBT กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่ม สัตว์เลี้ยง กลุ่ม Millennium (อินเดีย จีน ประเทศเศรษฐกิจใหม่) กลุ่ม Hispanic (สหรัฐฯ ลาติน) สินค้าฮาลาล (ตะวันออกกลาง และแอฟริกาเหนือ) กลุ่ม Superrich (จีน อินเดีย ตะวันออกกลาง)
4. ใช้ Digital Marketing ทั้งของไทย (Thaitrade.com) และเชื่ยมโยงกับ Global และ Local platform ที่มีศักยภาพในตลาดนั้นๆ (ญี่ปุ่น สหรัฐฯ จีน ไต้หวัน เกาหลีใต้ อินเดีย) ซึ่งเป็นตลาดที่มีการยอดการบริโภคผ่าน E-Commerce มากที่สุด
5. ผลักดันการสร้างเครือข่ายนักธุรกิจรุ่นใหม่ (Innovation Based and Creativity Based Start-Ups) เพื่อสร้างฐานประเทศไทยสู่การเป็น Creative Thailand (สหภาพยุโรป สหรัฐฯ ฮ่องกง สิงคโปร์)
6. ขยายลู่ทางตลาดใหม่ให้กับสินค้าศักยภาพดั้งเดิม ได้แก่ สินค้าเกษตรและอาหาร เครื่องจักรกลการเกษตร อาหาร แฟชั่น อัญมณีและเครื่องประดับ สินค้าอุปโภคบริโภค ในทุกตลาด เจาะตลาดลึกถึงระดับเมือง
นอกจากนี้ ได้มอบหมายให้ทูตพาณิชย์ทั่วโลกเร่งดำเนินการยกระดับและพัฒนามาตรฐานอาหารไทย และร้านอาหารไทย ในเขตพื้นที่ ตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี โดยเน้นการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานต่างๆ อาทิ กระทรวงเกษตรและกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นต้น
ข่าวเด่น