กทพ. แถลงผลเปิดใช้ทางพิเศษศรีรัช-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ปัจจุบันมีผู้ใช้บริการ35,000 เที่ยว/วัน ตั้งเป้า 80,000เที่ยว/วัน เตรียมหารือเพิ่มจำนวนผู้ใช้ และพร้อมดูแลความปลอดภัย
นายณรงค์ เขียดเดช ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย เป็นประธานแถลงผลการเปิดใช้ทางพิเศษศรีรัช-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2550 ที่ผ่านมา ณ ศูนย์ควบคุมทางพิเศษศรีรัช-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร (CCB 7) ว่าปัจจุบันหลังเปิดใช้ทางพิเศษศรีรัช-วงแหวนรอบนอกฯ เมื่อวันที่22 สิงหาคม 2559 ที่ผ่านมา มีผู้ใช้ทางพิเศษเฉลี่ยวันทำการ จำนวน 35,000 เที่ยว/วัน จากการตั้งเป้า 80,000 เที่ยว/วัน คาดว่ายังเป็นช่วงเริ่มต้น คงจะดูไปอีกระยะ 2-3 เดือน อาจจะขยับขึ้นไปอีก และเตรียมพร้อมดูแลความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้บริการ พร้อมทั้งจะเตรียมจะหารือกับ BEM เพื่อกระตุ้นให้มีผู้ใช้บริการเพิ่มมากขึ้นต่อไป
นอกจากนี้ ยังมีแผนเร่งรัดโครงการสายพระราม 3 ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอก ระยะทาง 19 กิโลเมตร เตรียมเสนอกระทรวงส่งคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป อีกสายทางคือทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ มีตอม่ออยู่แล้ว เนื่องจากว่าตอม่อสร้างมานาน รถบริเวณนั้น ติดตลอดทั้งวัน ปัจจุบันเร่งหารือกับกรมทางหลวง ได้ข้อสรุประดับหนึ่งว่าจะทำงานร่วมกัน จะก่อสร้างทางด่วนยกระดับตั้งแต่ถนนลาดปลาเค้า ถัดจากเกษตรไปเล็กน้อย ยกระดับไปเกาะกลางถนน ต่อเข้ากับทางพิเศษฉลองรัช ต่อเข้าถนนนวมินทร์ และสิ้นสุดที่วงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ ด้านตะวันออก
ทั้งนี้ ทางพิเศษศรีรัช-วงแหวนรอบนอกฯ เริ่มต้นจากถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร (ถนนกาญจนาภิเษก บริเวณใกล้โรงกรองน้ำมหาสวัสดิ์) ตามแนวเขตทางรถไฟสายใต้เดิมและข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณสะพานพระราม 6 สิ้นสุดโครงการบริเวณย่านบางซื่อ เชื่อมต่อทางพิเศษศรีรัช บริเวณด้านเหนือของสถานีขนส่งหมอชิต 2 และลงสู่ระดับดิน ที่บริเวณถนนกำแพงเพชร 2
ทางพิเศษศรีรัช-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครมีทางขึ้น-ลงทั้งหมด 6 แห่ง คือ 1. ทางขึ้น-ลงบรมราชชนนี 2. ทางขึ้น-ลงราชพฤกษ์ 3. ทางขึ้น-ลงบางบำหรุ 4. ทางขึ้น-ลงจรัญสนิทวงศ์ 5. ทางขึ้น-ลงพระราม 6 และ 6. ทางขึ้น-ลงกำแพงเพชร 2
ข่าวเด่น