ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
กรมสบส.แนะวิธีใช้เครื่องวัดความดันอัตโนมัติที่บ้าน ไม่ควร!!ใช้ถ่านไฟธรรมดา อาจให้ค่าผิดพลาด


 


กรมสนับสนุนบริการสุขภาพแนะวิธีใช้เครื่องตรวจวัดความดันโลหิตแบบดิจิตอลหรือแบบอัตโนมัติประจำบ้าน ให้เลือกซื้อชนิดที่มีเครื่องหมายรับรองมาตรฐานเช่น มอก. CE เป็นต้น มีระบบการทดสอบค่ามาตรฐานหลังใช้  เน้นย้ำให้เลือกใช้ถ่านไฟชนิดที่เป็นอัลคาไลน์เท่านั้น เนื่องจากมีแรงดันและกระแสไฟฟ้าเสถียร ห้ามใช้ถ่านธรรมดาหรือถ่านราคาถูก เนื่องจากมีกำลังไฟน้อย อาจให้ค่าผิดพลาดได้สูง ส่งผลต่อการวินิจฉัยโรคได้ 

นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรมสบส.) กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ปัจจุบันประชาชนนิยมซื้อเครื่องตรวจวัดความดันโลหิตไปใช้เองที่บ้านกันมากขึ้น   ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ดีในการดูแลสุขภาพ  สำหรับเฝ้าระวังอาการผิดปกติของตนเองและคนในครอบครัวได้ตั้งแต่เนิ่นๆ   ซึ่งผลการสำรวจสุขภาพประชาชนไทยโดยการตรวจร่างกายครั้งที่ 4  พ.ศ. 2552 ที่ผ่านมา  พบประชนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป มีภาวะความดันโลหิตสูงเกือบ 11 ล้านคน และในจำนวนผู้ที่มีความดันโลหิตสูง ร้อยละ 60 ในผู้ชาย และร้อยละ 40 ในผู้หญิงไม่เคยรู้ตัวมาก่อนว่าเป็นโรคนี้  ดังนั้นการมีเครื่องตรวจวัดความดันโลหิตประจำบ้าน จะมีผลดีทั้งคนที่ยังไม่ป่วยและคนที่ป่วยโรคนี้แล้ว ทำให้รู้อาการผิดปกติได้อย่างรวดเร็วและรับการดูแลรักษาถูกต้อง  อย่างไรก็ดีเครื่องวัดความดันโลหิตที่มีจำหน่ายขณะนี้ ส่วนใหญ่เป็นระบบอัตโนมัติหรือเรียกว่าระบบดิจิตอล ใช้ง่าย สะดวก รายงานผลทางหน้าจอทั้งค่าความดันโลหิตและอัตราการเต้นของหัวใจต่อนาที ซึ่งในคนปกติมีอัตราการเต้นหัวใจอยู่ที่ 60-100 ครั้งต่อนาที   มีระดับความดันโลหิตส่วนบนไม่เกิน 120 มิลลิเมตรปรอท และส่วนล่างไม่เกิน 80 มิลลิเมตรปรอท 
     
อธิบดีกรมสบส.กล่าวต่อว่า ในการเลือกซื้อเครื่องวัดความดันโลหิตที่ให้ผลเชื่อถือได้นั้น   ขอให้ประชาชนเคร่งครัดเป็นพิเศษ เนื่องจากเป็นเครื่องมือที่ใช้กับชีวิต ใช้ตรวจวัดการทำงานของหัวใจ  มีข้อแนะนำดังนี้ 1.เลือกซื้อเครื่องที่มีมาตรฐานเชื่อถือได้ โดยสังเกตได้จากสัญลักษณ์เช่น CE (European Conformity:CE) หรือเครื่องหมาย UL (Underwriters' Laboratories :UL) ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงให้เห็นว่าเครื่องมือนั้นได้รับการออกแบบและผลิตที่ได้มาตรฐานความปลอดภัยตามข้อบังคับอุตสาหกรรมสหภาพยุโรป หรือดูที่เครื่องหมาย มอก. มาตรฐานประเทศไทย เป็นต้น โดยต้องพิจารณาถึงเรื่องการรับประกันสินค้าและการบริการภายหลังการขายด้วย   ไม่ควรซื้อเครื่องที่วางจำหน่ายตามแนวชายแดน เนื่องจากมีความเสี่ยงไม่ได้มาตรฐาน และไม่มีการรับประกันสินค้า   2.   ให้เลือกซื้อเครื่องชนิดที่วัดที่ต้นแขน จะได้ค่าความดันโลหิตที่ได้มาตรฐานใกล้เคียงกับความเป็นจริงกว่าชนิดที่วัดที่ข้อมือ เพราะอยู่ใกล้หัวใจและอยู่ระดับเดียวกับหัวใจมากที่สุด และ 3.ควรเลือกซื้อเครื่องที่มีระบบการตรวจสอบค่าความถูกต้องในการวัดหรือเรียกว่าเทสโหมด (Test Mode) เพื่อทราบประสิทธิภาพการทำงานของเครื่องหลังใช้งานแล้วให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน 

“เรื่องที่ประชาชนต้องใส่ใจมากๆ คือการเลือกใช้แบตเตอรี่หรือถ่านไฟที่จะใส่ในเครื่องวัดความดันโลหิตชนิดอัตโนมัติ ถ่านไฟที่มีประสิทธิภาพดีที่สุดคือชนิดที่เป็นอัลคาไลน์ (Alkaline Battery) ขนาด 1.5 โวลท์ ซึ่งจะมีแรงดันกำลังไฟต่อเนื่องหรือเสถียรและมีความจุไฟมากกว่าถ่านไฟธรรมดาหลายเท่าตัว ถ่านไฟที่ไม่ควรใช้คือถ่านทั่วไปโดยเฉพาะถ่านที่มีราคาถูกที่วางขายตามแนวชายแดนต่างๆ  เนื่องจากกำลังไฟไม่สม่ำเสมอ  อาจมีผลต่อการทำงานของเครื่อง ทำให้ค่าความดันโลหิตคลาดเคลื่อนผิดพลาดได้  ส่งผลเสียต่อผู้ป่วยได้ ” อธิบดีกรมสบส.กล่าว 
 
ทางด้านนายสุรพันธ์ ชัยล้อรัตน์ ผู้อำนวยการกองวิศวกรรมการแพทย์ กล่าวว่า ในการดูแลรักษาเครื่องวัดความดันโลหิตระบบดิจิตอลให้มีประสิทธิภาพต่อการใช้งาน  ขอแนะนำให้ประชาชนปฏิบัติดังนี้ 1. ควรเก็บวางเครื่องไว้ในที่มิดชิด และเก็บเครื่องในที่ร่ม ห้ามไว้ในที่โดนแสงแดดจัด ห้ามเก็บในรถยนต์หรือในที่มีอุณหภูมิสูง ความชื้นสูงและมีฝุ่นมาก   ระมัดระวังอย่าให้เครื่องตกหรือกระแทกพื้น  กรณีที่ไม่ได้ใช้งานเป็นเวลานานให้ถอดแบตเตอรี่ออก  2. หลังใช้งานให้ดูแลทำความสะอาดเครื่อง โดยใช้ผ้าชุบน้ำธรรมดาเช็ดและเช็ดตามด้วยผ้าแห้ง ห้ามใช้น้ำมันเบนซิน ทินเนอร์และสารรุนแรงอื่นๆทำความสะอาดเครื่องอย่างเด็ดขาด 3.ห้ามบิดหรือมัดผ้าพันแขน  ห้ามดัดแปลงหรือแยกชื้นส่วนของเครื่องวัดความดันโลหิตและปลอกสวมแขน  4.ไม่ควรกดปุ่มเปิดเครื่องโดยที่ยังไม่ได้พันผ้าที่แขน  ในการใช้เครื่องควรอ่านและทำความเข้าใจคู่มือการใช้งานของผู้ผลิตก่อนทุกครั้ง ซึ่งจะทำให้เครื่องมีความคงทนและให้ค่าตรวจวัดที่ถูกต้องแม่นยำ  โดยกองวิศวกรรมการแพทย์ได้นำความรู้นี้เผยแพร่ทางเว็บไซต์  www.medi.moph.go.th แล้ว                     












 

บันทึกโดย : วันที่ : 11 ก.ย. 2559 เวลา : 10:53:41

22-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 22, 2024, 2:49 am