รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เผยผลหารือทวิภาคีด้านสาธารณสุขไทย - พม่า ร่วมพัฒนาสาธารณสุขชายแดน 5 ด้าน สร้างสถานีอนามัยที่รัฐกะเหรี่ยงและฉาน ระบบดูแลโรคเรื้อรังในกลุ่มแรงงานและประชากรผ่านข้ามแดน ระบบแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อประสิทธิภาพการป้องกันควบคุมโรค พัฒนาศักยภาพในการผลิตเวชภัณฑ์ และพัฒนาด่านชายแดน
? ศาสตราจารย์คลินิก เกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังกลับจากประชุมคณะกรรมการบริหารองค์การอนามัยโลกภูมิภาคเอเชียใต้และตะวันออก ณ กรุงโคลัมโบ สาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกา เมื่อต้นเดือนกันยายน 2559 ที่ผ่านมา ว่า ผลการหารือทวิภาคีกับดร.มินท์ ทวย (H.E.Dr. Myint Htwe) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ได้เห็นชอบความร่วมมือด้านการแพทย์และสาธารณสุขระหว่าง 2 ประเทศ ใน 5 ด้านคือ
1.การร่วมกันพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการให้บริการด้านสุขภาพบริเวณชายแดน ในสถานีอนามัย หรือเฮลท์โพสต์ (health post) โดยจะเริ่มดำเนินงานในรัฐกะเหรี่ยงและฉานเป็นลำดับแรก 2.การพัฒนาระบบดูแลแรงงานต่างด้าวและประชากรที่เดินทางข้ามไปมาระหว่างประเทศร่วมกัน โดยเฉพาะโรคเรื้อรังที่ต้องการการดูแลระยะยาว 3.การพัฒนาระบบข้อมูลและแนวทางการแลกเปลี่ยนข้อมูลร่วมกันในระดับพื้นที่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันควบคุมโรคได้อย่างทันท่วงที 4.การพัฒนาศักยภาพในการผลิตเวชภัณฑ์ โดยร่วมกับองค์การเภสัชกรรม และ5.การพัฒนาระบบด่านพรมแดน (border check point) สินค้าต่างๆ รวมถึงอาหารและยา
นอกจากนี้ ผู้สมัครเพื่อรับการคัดเลือกเป็นผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก 2 ท่าน คือ นายแพทย์ ทีรอส อะดานอม (Dr. Tedros Adhanom) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข สหพันธ์สาธารณรัฐประชาธิปไตยเอธิโอเปีย และพญ.ซาเนีย นิสตาร์ (Dr. Sania Nishtar) อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการศึกษาและการฝึกอบรม และเทคโนโลยีสารสนเทศและโทรคมนาคม รวมทั้งรับผิดชอบงานด้านสาธารณสุข ประเทศปากีสถาน ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาขององค์การอนามัยโลก และเป็นประธานร่วมของ Commission on Child Hood Obesity ขององค์การอนามัยโลก ขอเข้าพบเพื่อรับการสนับสนุนในการคัดเลือก ซึ่งจะมีขึ้นในช่วงการประชุมสมัชชาอนามัยโลก (World Health Assembly) สมัยที่ 70 ในเดือน
พฤษภาคม 2560
ข่าวเด่น