การสร้างความยั่งยืนให้ผู้ประกอบการธุรกิจสตาร์ทอัพในระยะยาว จำเป็นที่ต้องมีการต่อยอดธุรกิจให้ครบวงจรโดยเฉพาะในเรื่องของเงินทุน ซึ่งรัฐบาลและกระทรวงการคลังได้ให้ความสำคัญในเรื่องดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง โดยรองนายกรัฐมนตรีสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เปิดเผย ภายหลังตรวจเยี่ยมตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เมื่อต้นเดือนกันยายน ที่ผ่านมาว่า ได้มอบนโยบายให้ตลท. จัดทำแผนแม่บทเพื่อสอดคล้องกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของประเทศ โดยเฉพาะการเข้าไปมีบทบาทในการส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมายที่รัฐบาลให้การสนับสนุนเข้ามาจดทะเบียนในตลท.มากขึ้น ทั้งกลุ่มเทคโนโลยีดิจิทัล และกลุ่มนวัตกรรมใหม่
นอกจากนี้ต้องการให้ตลท.เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาธุรกิจสตาร์ทอัพ และ ฟินเทค โดยให้หารือ กับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) เพื่อร่วมกันกำหนดหลักเณฑ์ให้ธุรกิจสตาร์ทอัพ และ ฟินเทค เข้าจดทะเบียน โดยให้ มีการตั้งตลาดหลักทรัพย์แห่งใหม่เพื่อรองรับธุรกิจที่มี ศักยภาพเหล่านี้ รวมทั้งให้ตลท.จัดสรรเงินกองทุนพัฒนาตลาดทุนบางส่วนมาให้การสนับสนุน โดยอาจจะเป็นลักษณะการร่วมลงทุน หรือ ให้ตลท.เป็นตัวกลางในการระดมทุน
เนื่องจากกลุ่มธุรกิจสตาร์ทอัพและฟินเทคเป็นกลุ่มมีความสำคัญมาก ขณะที่ธุรกิจเหล่านี้ไม่ใช่เอสเอ็มอี ไม่ใช่บริษัทที่มีทุนจดทะเบียนขนาดใหญ่เพียงพอที่จะเข้า จดทะเบียนในตลาดหุ้น ดังนั้นตลท. ต้องช่วยเหลือสร้างตลาดหลักทรัพย์ใหม่ เพื่อให้ธุรกิจที่มีศัยภาพเหล่านี้ เข้ามาจดทะเบียนให้ได้
ซึ่งนางเกศรา มัญชุศรี กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็ยืนยันว่า ตลท.จะนำนโยบายที่ได้รับมอบหมายไปบรรจุไว้ในแผนการดำเนินงานปี 2560 ซึ่งกำลังร่างอยู่ คาดว่าจะชัดเจนในปลายปีนี้ และพร้อมร่วมมือกับภาคตลาดทุนทั้งหมดสนับสนุนให้ธุรกิจสตาร์ทอัพ และฟินเทคเข้ามามีบทบาทในตลาดทุนมากขึ้น ส่วนจะใช้เงินกองทุนพัฒนาตลาดทุนในการสนับสนุนมากน้อยเพียงใด ต้องนำเสนอให้คณะกรรมการพิจารณาก่อน
ขณะที่นายประพันธ์ เจริญประวัติ ผู้จัดการตลาด หลักทรัพย์ เอ็มเอไอ กล่าวว่า ตลาดทุนจะปรับปรุงกฎเกณฑ์ให้เหมาะสม เพื่อสนับสนุนและพัฒนาการเติบโตวิสาหกิจเริ่มต้น โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้ง ตลท. และก.ล.ต. ซึ่งจะเร่งรัดศึกษาแนวทางปรับปรุงเกณฑ์คุณสมบัติของบริษัทที่จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เพิ่มเติม คาดว่าจะประกาศใช้หลักเกณฑ์ได้ภายในปี 60
ด้านนายวโรทัย โกศลพิศิษฐ์กุล รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจเริ่มต้นแห่งชาติ ว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ปรับปรุงประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 4 มาตรา ประกอบด้วย หุ้นกู้แปลงสภาพ การทยอยให้หุ้น สิทธิ์ที่จะซื้อหุ้นในราคาที่กำหนด และหุ้นบุริมสิทธิ เพื่อสนับสนุนวิสาหกิจเริ่มต้นสามารถประกอบธุรกิจให้เกิดความคล่องตัวเพิ่มขึ้น โดยการปรับแก้ไขกฎหมายดังกล่าว จะช่วยพัฒนาวิสาหกิจเริ่มต้นทั้งแนวทางปรับปรุงกฎหมายธุรกิจ การพัฒนาระบบบัญชี และการกำหนดคุณสมบัติของนักลงทุน และผู้ประกอบการเป็นต้น
ทั้งนี้ การแก้ไขกฎหมาย แบ่งเป็นหุ้นกู้แปลงสภาพ เพื่อแปลงหนี้สินเป็นทุน จะมีการเพิ่มข้อยกเว้นโดยให้บริษัทสามารถออกหุ้นก็แปลงสภาพได้ โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติกฎหมายอื่น และยังแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติกฎหมายของมาตรา 1119 ให้ผู้ถือหุ้นสามารถหักลบกลบหนี้กับบริษัทได้ในกรณีการปรับโครงสร้างหนี้ให้กลายเป็นหุ้น
ข่าวเด่น