นพ.พีระพงษ์ สายเชื้อ ปลัดกรุงเทพมหานคร ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และ รศ.ดร.สกุล ห่อวโนทัย ผู้จัดการโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา นำล่องเรือแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อนำชมพื้นที่โครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา พร้อมร่วมเสวนา “เจ้าพระยาเพื่อทุกคน...อนุรักษ์ สืบสาน สร้างสรรค์” ซึ่งกระทรวงมหาดไทยและกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และมหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) ดำเนินการสำรวจ ออกแบบและจัดทำแผนแม่บท ระยะทาง 57 กม. จากสะพานพระราม 7 ถึงบางนา ภายใต้แนวคิดนาคนาม สะท้อนความเป็นเมืองแห่งน้ำ ความมั่งคั่งอุดมสมบูรณ์ในแนวทางอนุรักษ์ สืบสาน สร้างสรรค์ และระยะนำร่อง 14 กม. แนวคิดรูปแบบการพัฒนาพื้นที่ ภูมิทัศน์วัฒนธรรมและการเชื่อมต่อให้เข้าถึงด้วยทางเดินตลอดสองฝั่งแม่น้ำ
ซึ่งได้สรุปแผนแม่บทระยะนำร่อง 14 กม. จากสะพานพระราม 7 ถึงสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า กำหนด 12 แผนย่อย ส่งเสริมการท่องเที่ยวกรุงเทพฯ พร้อมรองรับตลาดท่องเที่ยวระดับประชาคมอาเซียน และพัฒนาศักยภาพของมรดกวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวให้ยั่งยืนที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม โดยจะส่งมอบแผนให้กรุงเทพมหานครในวันที่ 26 ก.ย. 59
ปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า เจ้าพระยาเป็นแม่น้ำสายหลักของประเทศจากอดีตสู่ปัจจุบัน ช่วงที่ไหลผ่านกรุงเทพฯ มีระยะทางรวม 57 กม. เป็นเส้นทางคมนาคมจากภาคเหนือเชื่อมต่อจากนนทบุรี สู่สมุทรปราการ เชื่อมโยงสังคมและมรดกทางวัฒนธรรม สองฝั่งแม่น้ำมีคูคลองแยกย่อยเป็นที่ตั้งถิ่นฐานย่านชุมชนตามประวัติศาสตร์ มีวัด วัง สถานที่ราชการ ตลาด แหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงระดับโลกมากมาย แต่ด้วยกรุงเทพฯ เป็นเมืองที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว มีปัญหาการรุกล้ำซึ่งสร้างผลเสียต่อคุณภาพน้ำและมีหลายปัญหาที่ต้องร่วมกันแก้ไข การพัฒนาครั้งนี้ได้รับฟังเสียงจากทุกฝ่าย และมีการวางแผนออกแบบอย่างมีประสิทธิภาพตามหลักวิชาการ มีความชัดเจนของการทำงาน ในการสำรวจพื้นที่ เปิดฟังความคิดเห็นและความต้องการของชุมชน มีการออกแบบและจัดทำแผนงานที่จะทำให้การพัฒนาเกิดขึ้นเป็นจริงได้ ยืนยันการพัฒนาครั้งนี้เป็นการทำงานเพื่อประเทศชาติ
ศ.ดร.สุชัชวีร์ กล่าวว่า โครงการพัฒนาริมฝั่งเจ้าพระยาอยู่ภายใต้แนวคิด “เจ้าพระยาเพื่อทุกคน” (Chao Phraya for All) เน้นการอนุรักษ์ สืบสาน และสร้างสรรค์ ตลอดระยะเวลาดำเนินโครงการ 210 วัน ทีมที่ปรึกษาได้สำรวจพื้นที่ ฟังความคิดเห็นของ 34 ชุมชนที่เกี่ยวข้องและทุกภาคส่วน ออกแบบและจัดทำแผนแม่บท 12 แผนงานที่จะทำให้เกิดความสวยงามมีระเบียบให้ทุกคนเข้าถึงริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาได้สะดวกขึ้น โครงการนี้ไม่ได้สร้างถนนให้รถยนต์วิ่ง เราทำทางเดินและทางจักรยาน ไม่ได้ทำกำแพงเขื่อนสูงริมเจ้าพระยา อย่างที่เคยมีภาพข่าวออกมาแต่จะพัฒนาพื้นที่สาธารณะและทางเดิน เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงแม่น้ำเจ้าพระยา โดยผ่านชุมชนต่างๆ และเป็นการใช้ศักยภาพการลงทุนพัฒนาของภาครัฐ ที่สำคัญได้วางแผนอย่างรอบคอบให้การลงทุนก่อสร้างแผนงานในอนาคตมีความคุ้มค่าทางเศษฐกิจ สวยงามมีอารยสถาปัตย์ โดย สจล. และ มข. ซึ่งได้รับความร่วมมือจากกรมศิลปากร และคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ในการศึกษาแง่มุมคุณค่าทางประวัติศาสตร์ และมรดกทางวัฒนธรรม
สำหรับแผนแม่บทพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาระยะนำร่อง 14 กม. จากสะพานพระราม 7 ถึงสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า ประกอบด้วย 12 แผนย่อย ดังนี้ 1. แผนจัดทำทางเดินและทางจักรยานริมแม่น้ำ (River Walks) กว้าง 7-10 เมตร ประกอบด้วย ทางเดินเท้า ทางจักรยาน บางแห่งมีจุดชมทัศนียภาพ สะพานข้ามคลอง เพื่อให้มีทางเลือกในการสัญจรที่ประหยัดพลังงานและเวลา 2. แผนงานโครงการพัฒนาพื้นที่ชุมชน (Community conservation and Development Areas) ตามกระบวนการมีส่วนร่วมกับชุมชน โดยฟื้นฟูและอนุรักษ์วัฒนธรรมสืบสานวิถีชีวิตของชุมชน 3. แผนงานพัฒนาจุดหมายตาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา (River Landmark) เพื่อเป็นจุดหมายตาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ออกแบบโดยใช้สถาปัตยกรรม “จอมแห” พัฒนาสถาปัตยกรรมกรุงรัตนโกสินทร์ เชื่อมต่อพิพิธภัณฑ์กรุงเทพมหานคร สวนเฉลิมพระเกียรติรัชกาลที่ 7 พิพิธภัณฑ์มรดกเจ้าพระยา ศูนย์ศิลปะการแสดงแห่งชาติและพิพิธภัณฑ์โรงเรือพระราชพิธี ให้เข้าชมได้สะดวก ให้ 4. แผนพัฒนาท่าเรือ (Piers) เป็นจุดเชื่อมต่อการสัญจรทางน้ำ 5.แผนพัฒนาเส้นทางการเข้าถึงพื้นที่ (River Linkages) ปรับปรุงตรอก ซอย เพื่อเชื่อมต่อและเข้าถึงพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา 6. แผนปรับปรุงภูมิทัศน์เขื่อนกันน้ำท่วมเดิม (Green Walls) ให้มีทัศนียภาพที่สวยงาม 7. แผนพัฒนาศาลาท่าน้ำ (Sala Riverfronts)เพื่อเป็นจุดพักผ่อน 8.แผนจัดทำพื้นที่บริการสาธารณะ(Public Service) รองรับการใช้ประโยชน์สาธารณะตลอดระยะ 9. แผนพัฒนาพื้นที่ศาสนสถาน (Religious Conservation Areas) ออกแบบโดยพัฒนาภูมิทัศน์คำนึงถึงคุณค่าและเคารพต่อศาสนาสถาน 10. แผนพัฒนาพื้นที่แนวคูคลองประวัติศาสตร์ (Historical Cannals) สะท้อนเรื่องราวการตั้งถิ่นฐานของบางกอกในอดีตและความเปลี่ยนแปลงมาจนถึงปัจจุบัน 11. แผนพัฒนาพื้นที่นันทนาการและสวนสาธารณะริมน้ำ (Green Corridors) ใช้พื้นที่ว่างรองรับกิจกรรมนันทนาการ ลานกีฬา และสวนสาธารณะของประชาชน และ 12. แผนจัดทำสะพานคนเดินข้าม (Pedestrian Bridges) โดยสร้างใหม่ 2 จุด พร้อมปรับปรุงทางเดินเท้าและทางจักรยานบนสะพานเชื่อมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาที่ปลอดภัย
ระยะเวลาการก่อสร้างประมาณ 1 ปี 6 เดือน ตามแผนคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ต้นปี 2560 แล้วเสร็จกลางปี 2561 จะใช้เทคโนโลยีในการจัดการโครงสร้างเพื่อไม่ให้กีดขวางทางน้ำไหล หรือเป็นแหล่งเพาะพันธ์ยุงและขยะมูลฝอย ทางเดินไม่ละเมิดความเป็นส่วนตัวของเจ้าของบ้านที่ถูกกฎหมาย ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการน้ำป้องกันการอุดตันของน้ำในช่วงที่น้ำหลากได้ คลองเชื่อม ทางระบายน้ำจะมีความสอดคล้องกันเป็นระบบ จะช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมน้ำขังอย่างครบวงจร ประชาชนสามารถติดตามขั้นตอนดำเนินการได้หากประชาชนหรือชุมชนที่ได้รับผลกระทบมีข้อร้องเรียน ติดต่อได้ที่ กรุงเทพมหานคร โทร. 1555
ข่าวเด่น